แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีเพราะกำหนดอัตราดอกเบี้ยมิใช่เบี้ยปรับหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะมิได้นำสืบไว้ โดยคู่ความมิได้อุทธรณ์หรือยื่นคำแก้อุทธรณ์ไว้และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 240 และที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อปรากฎว่าโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยตามสำเนาประกาศกระทรวงการคลัง เอกสารหมาย จ.9 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้ และได้ระบุจำนวนดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินโดยแจ้งชัดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่ลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อลูกหนี้ผิดนัด อันจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลลดจำนวนลงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2536 จำเลยกู้ยืมโจทก์จำนวน 248,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยจะผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,300 บาท ภายในเวลา 15 ปี หากผิดนัดไม่ชำระงวดหนึ่งงวดใด ยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที และถ้าผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาถึงหนึ่งปี ยอมให้ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าเป็นต้นเงินในวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีและยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจำเลยเอาห้องชุดเลขที่ 59/293 ชั้นที่ 4 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินดังกล่าว จำเลยยอมให้โจทก์เอาประกันภัยทรัพย์จำนองตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เงินดังกล่าวเสร็จสิ้นหากผิดนัดไม่ชำระเบี้ยประกันภัยยอมให้โจทก์ทบจำนวนเบี้ยประกันภัยเข้ากับยอดหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระ และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน ในระหว่างกู้ยืมเงินโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ย 2ครั้ง จากอัตราร้อยละ 11 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 12 และ 19 ต่อปีจำเลยผิดนัดและค้างชำระต้นเงินถึงวันฟ้องจำนวน 251,324.41 บาทดอกเบี้ยจำนวน 51,055.45 บาท รวม 302,398.16 บาท โจทก์ทวงถามให้ชำระและแจ้งบังคับจำนอง จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 302,398.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 251,324.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ออกแทนจำเลย 3 ปี ต่อครั้ง ครั้งละ1,551 บาท นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขาดทอดตลาดนำเงินมาชำระจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 302,398.16 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อ ของต้นเงิน 251,324.41 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่โจทก์จ่ายไปจริง 3 ปี ต่อครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1,551 บาท นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2540 ไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองห้องชุดเลขที่59/293 ชั้นที่ 4 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดจนกว่าจะชำระหนี้จนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 248,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารกู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาจำเลยผิดนัดและค้างชำระต้นเงินถึงวันฟ้องจำนวน 251,342.41 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 51,055.75 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 302,398.16 บาท จำเลยต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนี้แล้วกำหนดให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน251,324.41 บาท จากจำเลยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยไม่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 240 หรือไม่โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงการคลังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฎว่าในระยะเวลาจากวันฟ้องได้มีประกาศกระทรวงการคลังให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมอัตราสูงสุดซึ่งไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี แต่อย่างใด ส่วนประกาศกระทรวงการคลังตามสำเนาประกาศกระทรวงการคลังตามสำเนาประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.9 เป็นเพียงประกาศกำหนดให้โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเท่านั้นจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยจากวันฟ้องอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เหมาะสมแล้วเห็นว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เพราะกำหนดอัตราดอกเบี้ย มิใช่เบี้ยปรับหรือไม่การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะมิได้นำสืบไว้โดยคู่ความมิได้อุทธรณ์หรือยื่นคำแก้อุทธรณ์ไว้และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 การที่ศาลศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่าโจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้วินิจฉัยว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 เป็นเบี้ยปรับหรือไม่จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและเห็นว่า โจทก์มีนายอัครพล หริ่งรอด ผู้รับอำนาจโจทก์เบิกความว่าโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยตามสำเนาประกาศกระทรวงการคลัง เอกสารหมาย จ.9 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้ ปัญหาว่า การที่โจทก์ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ได้ระบุจำนวนดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินโดยแจ้งชัดตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่ลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อลูกหนี้ผิดนัด อันจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลลดจำนวนลงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปี ของต้นเงิน 251,324.41 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22มีนาคม 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์