คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8939/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอให้ริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 มุ่งประสงค์จะให้ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ การจะได้ความว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ย่อมจะต้องผ่านกระบวนการไต่สวนในเบื้องต้นเสียก่อนว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับคดีที่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกฟ้องอันเป็นคดีหลัก ตามถ้อยคำแห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 จึงบัญญัติข้อความแยกต่างหากจากการริบทรัพย์สินและขอคืนทรัพย์สิน ตามมาตรา 36 แห่ง ป.อ. ทั้งห้ามมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า คดีที่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกฟ้องเป็นคดีหลักและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงให้งดไต่สวนและยกคำร้องมานั้นไม่ชอบ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544 เวลา 22.45 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายสมัยและนายไชยโญพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 จำนวน 200 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 5.285 กรัม และรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน (ป้ายแดง) ฉ – 2607 กรุงเทพมหานคร หรือ ลฐ – 5740 กรุงเทพมหานคร ซึ่งบุคคลทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือหรือยานพาหนะในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นของกลาง ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฯ ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ย. 3969/2544 ของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์กระบะของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า รถยนต์กระบะของกลางเป็นของผู้คัดค้าน จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องและให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ศาลล่างทั้งสองให้งดไต่สวนและยกคำร้องมานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า การขอให้ริบทรัพย์สินในกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 มุ่งประสงค์จะให้ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ การจะได้ความว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ย่อมจะต้องผ่านกระบวนการไต่สวนในเบื้องต้นเสียก่อนว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับคดีที่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกฟ้องอันถือเป็นคดีหลัก ตามถ้อยคำแห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 ข้างต้น จึงบัญญัติข้อความแยกต่างหากจากการริบทรัพย์สินและขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 36 แห่ง ป.อ. ทั้งห้ามมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคดีที่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกฟ้องเป็นคดีหลักและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงให้งดไต่สวนและยกคำร้องมานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวน แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี.

Share