แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยรับจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร เมื่อจำเลยส่งมอบงานงวดที่ 6 ล่าช้า โจทก์แจ้งสงวนสิทธิขอปรับตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง จำเลยไม่ยินยอม คู่สัญญาจึงทำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา โดยอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ขยายเวลาปฏิบัติตามสัญญาออกไปอีก 120 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุด จำเลยมิได้ทำงานงวดที่ 7 ถึงที่ 10 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยขอคิดค่าปรับจากจำเลยในช่วงเวลาที่ผิดสัญญา แต่แม้ตามสัญญาจะมีการกำหนดให้คิดเบี้ยปรับไว้ แต่เบี้ยปรับดังกล่าวก็เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอาจจะสูงหรือต่ำกว่าค่าเสียหายแท้จริงก็ได้ ซึ่งต้องปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ที่ให้ศาลพิจารณาลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงเป็นจำนวนที่พอสมควรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่เหมาะสมโดยมิได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยในเวลาอันสมควร การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เอาวันหลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยและจำเลยทำหนังสือข้อตกลงขยายระยะเวลาปฏิบัติงานตามสัญญา 1 เดือนเศษ โดยการขยายระยะเวลาดังกล่าวไม่มีผลให้ปฏิบัติได้จริง เพราะมีคำวินิจฉัยเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว คงมีผลเพียงเพื่อลดวันที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับและจำเลยไม่อาจดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้อีก เป็นวันเลิกสัญญา เป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๔๐,๑๕๑,๐๗๖.๐๒ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๘,๐๓๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้เปลี่ยนจาก ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๙,๑๔๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๖ โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างหอพักนิสิต ๒ หลัง เป็นเงิน ๖๗,๙๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดตรวจรับงานและจ่ายเงินค่าจ้างเป็น ๑๐ งวด กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ หากส่งมอบงานเกินกำหนดต้องเสียค่าปรับวันละ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยมีธนาคารศรีนคร จำกัด ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยเป็น ๓,๓๙๕,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยส่งมอบงานในงวดที่ ๕ และที่ ๖ ล่าช้า โจทก์แจ้งสงวนสิทธิขอปรับตามสัญญาเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ แต่จำเลยไม่ยินยอม จึงนำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการ โดยอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๙ ให้ขยายเวลาปฏิบัติตามสัญญาออกไปอีก ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ต่อมาวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ จำเลยจึงทำหนังสือข้อตกลงขยายระยะเวลาปฏิบัติงาน หลังจากจำเลยส่งมอบงานงวดที่ ๖ ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๘ แล้ว จำเลยมิได้ทำงานงวดที่ ๗ ถึงที่ ๑๐ แต่อย่างใด โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๐ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ หลังจากนั้นโจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสถิตย์วิศวกรก่อสร้าง ดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเมื่อประมาณปลายปี ๒๕๔๐ จำเลยจึงต้องชำระค่าปรับวันละ ๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ รวม ๖๙๘ วัน เป็นเงิน ๓๔,๙๐๐,๐๐๐ บาท และการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอีกหลายประการเป็นเงิน ๓,๑๓๐,๐๐๐ บาท ตามบันทึกการประเมินค่าเสียหายเอกสารหมาย จ. ๑๗ ถึง จ. ๒๓ แต่จำเลยไม่ชำระ ส่วนธนาคารศรีนคร จำกัด ได้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันจำนวน ๓,๓๙๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์แล้ว เห็นว่า ประเด็นโดยตรงตามคำฟ้องมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดค่าปรับจากจำเลยในช่วงเวลาตามคำฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความถึงเหตุที่ก่อให้เกิดสิทธิของโจทก์และโจทก์ใช้สิทธิอย่างเหมาะสมและชอบธรรมหรือไม่ แม้ตามสัญญาจะมีการกำหนดให้มีการคิดเบี้ยปรับไว้ แต่เบี้ยปรับดังกล่าวก็เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอาจจะสูงหรือต่ำกว่าค่าเสียหายแท้จริงก็ได้ ซึ่งต้องปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๓ วรรคแรก ที่ให้ศาลพิจารณาลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงเป็นจำนวนที่พอสมควรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฉะนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลังจากอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้ว ต่อมาวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๙ โจทก์จำเลยได้ทำข้อตกลงขยายระยะเวลาปฏิบัติงานตามสัญญา แต่จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญา คงปล่อยระยะเวลาให้ล่วงพ้นเป็นเวลานาน ต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๐ โจทก์จึงแจ้งบอกเลิกสัญญาต่อจำเลย การบอกเลิกสัญญาของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่เหมาะสมเพราะมิได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยภายในเวลาอันสมควร จึงกำหนดให้วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นวันหลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดและจำเลยทำหนังสือข้อตกลงขยายระยะเวลาปฏิบัติงานตามสัญญา ๑ เดือนเศษ โดยการขยายระยะเวลาดังกล่าวไม่มีผลให้ปฏิบัติได้จริงเพราะมีคำชี้ขาดเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว คงมีผลเพียงเพื่อลดจำนวนวันที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับและจำเลยไม่อาจดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้อีกแล้ว เป็นวันเลิกสัญญา เป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องและเป็นธรรม คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน.