แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลในความผิดฐานบุกรุกว่า โจทก์และ ส. ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) โจทก์กับ ส. แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนคนละครึ่ง ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นภริยา ส. ก่อสร้างห้องแถวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยมีเจตนาแย่งการครอบครองและเจตนาถือการครอบครองที่ดินทั้งหมดเป็นของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินพิพาทมาแสดง ส่วนแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) เป็นเพียงแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อการชำระภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารสิทธิ พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลฎีกา โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ นั้น ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ปรากฎว่า คดีส่วนอาญาวินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน ห้ามมิให้เข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่ดินโจทก์ กับให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยสามารถใช้ประโยชน์ได้และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทต่อไป กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและส่งมอบการครอบครองคืนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีในความผิดฐานบุกรุกว่า โจทก์และนายสมบัติ ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) หมู่ที่ 5 ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา โจทก์กับนายสมบัติแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนคนละครึ่ง ต่อมานายสมบัติถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นภริยานายสมบัติก่อสร้างห้องแถวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยมีเจตนาแย่งการครอบครองและเจตนาถือการครอบครองที่ดินทั้งหมดเป็นของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลจังหวัดกาญจนบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 โดยวินิจฉัยว่า โจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินพิพาทมาแสดง ส่วนแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) เป็นเพียงแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อการชำระภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารสิทธิ พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีหมายเลขแดงที่ 11088/2557 โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีอาญาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า คดีอาญาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ซึ่งแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องสิทธิครอบครองของโจทก์ แต่เมื่อคดีส่วนอาญาดังกล่าวถึงที่สุดในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อคดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ปรากฏว่าคดีส่วนอาญาวินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ