คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลสั่งรวมพิจารณาคดีแพ่งสองสำนวนเข้าด้วยกันและพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนแรกยื่นฎีกาแม้ตามฎีกาของจำเลยทั้งสามจะระบุเลขคดีทั้งสองสำนวนก็ตามแต่ในช่องทุนทรัพย์ระบุทุนทรัพย์ตามสำนวนที่สองเท่านั้นคำขอท้ายฎีกาก็ขอให้จำเลยในสำนวนที่สองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสาม ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาก็เสียตามทุนทรัพย์ในสำนวนที่สอง ประกอบกับการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสามก็ถือทุนทรัพย์ตามสำนวนที่สอง จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามประสงค์จะฎีกาเฉพาะสำนวนที่สอง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้เป็นคู่ความในสำนวนที่สอง จึงไม่มีสิทธิฎีกา คงเป็นฎีกาเฉพาะของจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นโจทก์ในสำนวนที่สองเท่านั้น ผู้ขับรถยนต์เก๋งและรถยนต์บรรทุกต่างฝ่ายต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เป็นเหตุให้รถชนกัน ความรับผิดในความเสียหายของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นอันพับ ไป.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณา สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาและทายาทของผู้ขับรถยนต์เก๋งชนรถยนต์บรรทุก ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ครอบครองและเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 1 เสียหายด้วยความประมาทของผู้บับรถยนต์เก๋ง รับผิดชอบชอใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 65,960 บาท และขอให้จำเลยที่สามซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์เก๋งคันที่ชนรถยนต์บรรทุกร่วมรับผิดด้วย
จำเลยสำนวนแรกให้การว่า เหตุรถชนเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกฝ่ายเดียว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง จำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสองในสำนวนแรก เป็นอีกคดีหนึ่งว่ารถยนต์บรรทุกชนรถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้เสียหายเป็นเงิน 229,000 บาท จำเลยที่ 3ได้ใช้เงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วจึงเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องให้โจทก์ที่ 2 รับผิดในฐานะนายจ้างของผู้ขับรถบรรทุก แลละให้โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน
หลังจากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเสร็จแล้ว ได้มีคำสั่งให้แยกพิพากษาคดีสองสำนวนโดยคู่ความในคดีหลังขอให้ถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีแรก แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงทั้งสองสำนวนว่า ผู้ขับรถยนต์เก๋งและรถยนต์บรรทุกต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงต่างจะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากกันไม่ได้ พิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์สั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันแล้วพิพากษายืนทั้งสองสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียามชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
จำเลยทั้งสามในสำนวนแรกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…แม้ตามฎีกาของจำเลยทั้งสาม จะระบุเลขคดีทั้งสองสำนวนก็ตาม แต่ในช่องทุนทรัพย์ระบุตัวทุนทรัพย์ตามสำนวนที่สองเท่านั้น คำขอท้ายฎีกาก็ขอให้จำเลยทั้งสอง (น่าจะหมายถึงโจทก์ทั้งสอง) ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสามค่าธรรมเนียมในชั้นฎีกาก็เสียตามทุนทรัพย์ตามสำนวนที่สองจึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสามประสงค์จะฎีกาเฉพาะสำนวนที่สอง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่าสำหรับนายเล็ก ทับพันธุ์บุบผา และนางบุญมาต่างไม่ได้เป็นคู่ความในสำนวนที่สอง ดังนั้นทั้งนายเล็กและนางบุญมาจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีตามสำนวนที่สองไม่มีสิทธิฎีกาในสำนวนที่สองคงเป็นฎีกาเฉพาะของบริษัทกรุงเทพประกันภัยจำกัด จำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นโจทก์ในสำนวนที่สองเท่านั้น…
สำหรับปัญหาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาทนั้นเชื่อได้ว่ารถยนต์เก๋งได้แล่นล้ำเข้ามาในช่องทางของรถยนต์บรรทุกด้วย ซึ่งถ้าหากรถยนต์เก๋งไม่แล่นด้วยความเร็วและไม่แล่นล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกและรถยนต์บรรทุกก็ไม่แล่นล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์เก๋ง รถของทั้งสองฝ่ายก็คงจะหลบหลีกกันได้ตามสภาพของถนนในขณะเกิดเหตุและเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น สรุปแล้วจึงเชื่อได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างขับรถล้ำเข้าไปในทางช่องทางเดินรถของอีกฝ่ายซึ่งเกิดจากความประมาทของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง หาใช่เหตุเกิดเพราะรถยนต์บรรทุกจะเลี้ยวไปทางขวาจึงตัดโค้งเข้าไปทางขวามือ แล้วไปชนรถยนต์เก๋งที่แล่นสวนทางมาในช่องทางเดินรถของรถยนต์เก๋งดังที่นายไพจิตร อุณหลิกัลนพงษ์ พยานฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งอ้างว่าได้รับฟังคำบอกเล่าจากชาวบ้านมาเช่นนั้นไม่ ตามรูปคดีเหตุหาใช่เกิดเพราะนางสำเริง ทับพันธุ์ บุบผา ผู้ขับรถยนต์เก๋งขับรถด้วยความเร็วไม่สูงเนื่องจากเป็นผู้หญิง ส่วนนายเชษฐ์ผู้ขับรถยนต์บรรทุกเป็นคนหนุ่มจึงขับรถเร็วและแล่นล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์เก๋งแต่ฝ่ายเดียวดังจำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าต่างฝ่ายต่างประมาท ซึ่งเมื่อได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ตามความหนักเบาแห่งความประมาทของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันความรับผิดในความเสียหายของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นอันพับไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน และให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาเป็นพับ.

Share