คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้างแผ้วถาง ตัดฟัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ขนาดเล็กและใหญ่ แล้วยึดถือครอบครองที่ดินเนื้อที่ 20 ไร่เศษ ซึ่งเป็นแปลงเดียวกับคดีก่อนที่มีเนื้อที่ 100 ไร่ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4,5,6,14 และ 31 อันเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันทั้งองค์ประกอบแห่งความผิดก็แตกต่างกันฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด เดือนเมษายน2539 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2539 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ขนาดเล็กและใหญ่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนแล้วยึดถือครอบครองที่ดินเนื้อที่ 20 ไร่เศษ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเหนือคลองและป่าแหลมกรวดอันเป็นการทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลคลองขนาน กิ่งอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 9,14, 31

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 2 ปีทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยและบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 217/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยไว้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า ที่ดินที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดคดีนี้เนื้อที่ 20 ไร่เศษ เป็นที่ดินแปลงเดียวกับคดีก่อนซึ่งมีเนื้อที่ 100 ไร่ คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางตัดฟัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ขนาดเล็กและใหญ่ไม่ทราบจำนวนแน่นอนแล้วยึดถือครอบครองที่ดินแปลงเดียวกันเนื้อที่ 20 ไร่เศษ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 14 และ 31 จำเลยอ้างว่าที่ดินตามฟ้องซึ่งโจทก์กล่าวหาเป็นที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ทางการไม่เคยประกาศว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่จากข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่าเมื่อมีการตรวจสอบแล้วที่ดินที่จำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางตัดฟัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้ แล้วยึดถือครอบครองเนื้อที่20 ไร่เศษ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าว เป็นพื้นที่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกับคดีก่อนกับทั้งองค์ประกอบแห่งความผิดก็แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี6 เดือน โทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามฟ้อง

Share