แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 หรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด ทั้งต้องแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 ขึ้นต่อสู้ โดยไม่ได้ยกอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อโจทก์ฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แต่เป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่จะต้องแบ่งให้แก่ทายาท เท่ากับโจทก์ฟ้องคดีมรดก เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายวันที่ 30 สิงหาคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 นั้นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 8 มิถุนายน 2544 เรื่อง โอนบ้านและที่ดินเป็นเอกสารปลอมตกเป็นโมฆะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หนังสือมอบอำนาจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2544 เป็นเอกสารปลอมตกเป็นโมฆะ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การที่จำเลยให้การต่อสู้และอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องคดีมรดกและโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า หนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ กับคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 หรือไม่ ซึ่งปัญหาเรื่องอายุความมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) จำเลยจึงต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความในเรื่องใด ทั้งต้องแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีนี้จำเลยยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 ขึ้นต่อสู้ โดยไม่ได้ยกอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3308 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ตกเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นทรัพย์มรดกของร้อยตำรวจเอกเสวก ที่จะต้องแบ่งให้แก่ทายาท เท่ากับโจทก์ฟ้องคดีมรดก ร้อยตำรวจเอกเสวกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 นั้น จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินัยฉัยปัญหาข้อนี้ แต่คู่ความสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความและคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วเพื่อมิให้คดีล่าช้าจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่ย้อนสำนวน เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจซึ่งโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าเป็นเอกสารปลอมเพราะลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของร้อยตำรวจเอกเสวก คู่ความขอให้ศาลส่งลายมือชื่อของร้อยตำรวจเสวกไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ ซึ่งนักนิติวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สำนักนิติวิทยาศาสตร์บริการ ผู้เชี่ยวชาญของศาลตรวจพิสูจน์และให้ความเห็นว่า ไม่อาจลงความเห็นให้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความเชิงตั้งข้อสังเกตว่า ลายมือชื่อของร้อยตำรวจเอกเสวกในหนังสือมอบอำนาจ เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของร้อยตำรวจเอกเสวกในหนังสือสัญญาซื้อขาย สัญญาค้ำประกัน รวมทั้งสัญญาเช่าที่ดิน เห็นว่าลายมือชื่อไม่เหมือนกัน ฝ่ายจำเลยมีนางวาสนา หรือธัญสมิทธิ์ และพันโทพิศิษฐ์ เป็นพยานในฐานะที่นางวาสนาเป็นพยาน และพันโทพิศิษฐ์เป็นผู้เขียนทั้งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจ โดยพยานทั้งสองปากเบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2544 ร้อยตำรวจเอกเสวกให้นางวาสนาโทรศัพท์ตามพันโทพิศิษฐ์ไปพบที่อำเภอบ้านโป่งเพราะมีเรื่องจะพูดคุย พันโทพิศิษฐ์จึงเดินทางไปพบร้อยตำรวจเอกเสวกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2544 ร้อยตำรวจเอกเสวกบอกพยานว่า จะทำพินัยกรรมยกที่ดิน และบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่จำเลย โดยให้พันโทพิศิษฐ์เขียนข้อความในหนังสือมอบอำนาจยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3308 พร้อมบ้านบนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ขณะร้อยตำรวจเอกเสวกบอกให้พันโทพิศิษฏ์เขียนข้อความในเอกสาร นางวาสนาก็นั่งอยู่ด้วย ร้อยตำรวจเอกเสวกเป็นคนเตรียมแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจไว้ให้ เมื่อเขียนเสร็จก็ให้พันโทพิศิษฐ์อ่านให้ฟังอีกครั้งจึงลงลายมือชื่อ นางวาสนาและพันโทพิศิษฐ์ก็ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ขณะนั้นร้อยตำรวจเอกเสวกมีสติสัมปะชัญญะสมบูรณ์ดีทุกประการ พูดคุยรู้เรื่อง ร้อยตำรวจเอกเสวกเก็บเอกสารไว้โดยนางวาสนาไม่เคยเล่าเรื่องดังกล่าวให้จำเลยฟัง ต่อมาทราบว่าร้อยตำรวจเอกเสวกมอบเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โดยที่ทนายโจทก์ไม่ได้ถามค้านให้ปรากฏข้อพิรุธว่าพยานจำเลยทั้งสองปากจะสมคบกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ ขึ้นโดยที่ร้อยตำรวจเอกเสวกไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองจะได้รับประโยชน์ใด ๆ ไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองมีเหตุโกรธเคืองที่จะกลั่นแกล้งโจทก์และช่วยเหลือจำเลย ทั้งยังเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่มีเหตุผลที่นางวาสนาและพันโทพิศิษฐ์จะสมคบกันทำเช่นนั้น ส่วนเรื่องที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของร้อยตำรวจเอกเสวกโดยระบุว่าไม่มีพินัยกรรม จำเลยก็เบิกความอธิบายว่า ได้แจ้งและนำเอกสารดังกล่าวให้ทนายความคนเดิมดู ทนายความแนะนำว่า ทายาททุกคนให้ความยินยอมทั้งไม่คัดค้าน จึงไม่ต้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกแบบมีพินัยกรรมก็ได้ โดยก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกในคดีดังกล่าว ทายาทของร้อยตำรวจเอกเสวกทุกคนรวมทั้งโจทก์ต่างให้ความยินยอม ตามหนังสือให้ความยินยอม สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนคำร้อง จำเลยขอถอนคำร้องเพื่อยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของร้อยตำรวจเอกเสวกแบบมีพินัยกรรม ตามสำเนาคำร้อง ซึ่งถือว่ามีเหตุผลควรรับฟัง ไม่เป็นข้อพิรุธที่จะแสดงให้เห็นว่าขณะนั้นไม่มีหนังสือมอบอำนาจ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ น่าเชื่อว่า ลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจ เป็นลายมือชื่อของร้อยตำรวจเอกเสวกที่แท้จริง หนังสือมอบอำนาจจึงไม่ใช่เอกสารปลอม และเมื่อคดีฟังได้เช่นนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความตามคำแก้ฏีกาของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ