แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 ทำหนังสือ ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ภริยาทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หนังสือยินยอมสองฉบับมีข้อความว่า ผู้ให้ความ ยินยอมยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนี้ นอกจากเป็นหลักฐานแสดงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างรับว่าให้ความยินยอมในการที่คู่สมรสของตนทำนิติกรรมแล้ว ยังแสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญากับโจทก์ยอมผูกพันรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย ศาลชั้นต้นจะด่วนวินิจฉัยไปล่วงหน้าว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ทราบความหมายหรือสาระสำคัญของเอกสารที่ทำทั้งที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังไม่ได้เข้าเป็นคู่ความต่อสู้คดีนั้นไม่ถูกต้อง ส่วนข้อที่ตำหนิว่าหากต้องการให้ รับผิดก็ควรให้ทำสัญญาค้ำประกันเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 นั้น การทำข้อตกลงอย่างไร ให้ริบผิดแค่ไหนเพียงใดเป็นสิทธิของคู่สัญญา การที่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่รับคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไว้พิจารณา จึงไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกัน ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นสามีของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้ให้ความยินยอมจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำสัญญาเช่าซื้อและ ทำสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาเช่าซื้อ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อ คืนโจทก์ หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนกับให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าใช้สอยรถยนต์แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ และ ที่ ๔
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ และฟ้องจำเลยที่ ๔ ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นภริยาทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๔ ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ ภริยาทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ หนังสือยินยอมทั้งสองฉบับมีข้อความด้วยว่า ผู้ให้ความยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนี้หนังสือให้ความยินยอมนั้นนอกจากเป็นหลักฐานแสดงว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ต่างรับว่าให้ความยินยอมในการที่คู่สมรสของตนทำนิติกรรมแล้ว ยังแสดงว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทำสัญญากับโจทก์ยอมผูกพันรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ศาลล่างทั้งสองด่วนวินิจฉัยไปล่วงหน้าเพียงในชั้นตรวจรับคำฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ทราบความหมายหรือสาระสำคัญของเอกสาร ที่ทำทั้งที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ยังไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความต่อสู้คดีนั้นไม่ถูกต้อง ส่วนข้อที่ตำหนิว่าหากต้องการให้ริบผิดก็ควรให้ทำสัญญาค้ำประกันเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๒ นั้น เห็นว่า การทำข้อตกลงอย่างไร ให้รับผิดแค่ไหนเพียงใดเป็นสิทธิของคู่สัญญา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้ว่า ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไว้พิจารณา ค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในส่วนนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์