แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ได้จัดให้จำเลยทำสัญญาผูกมัดและกำหนดเวลาทำงานชดเชยไว้ กรณีเท่ากับเป็นการไม่มีสัญญาหรือข้อผูกมัดที่จะผูกพันหรือบังคับให้จำเลยต้องรับผิดชอบตามสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับราชการชดเชยให้โจทก์เป็นสองเท่าของเวลาที่ไปศึกษาปริญญาโท
ส่วนที่จำเลยได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 ปีเศษ จำเลยจะต้องรับราชการชดเชยให้โจทก์เป็นเวลา 12 ปีเศษ เมื่อคำนวณระยะเวลาที่จำเลยเข้ารับราชการหลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 10 ปีเศษ เมื่อรวมเวลากับที่ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศเป็นเวลา 2 ปีเศษ รวมเวลาที่จำเลยรับราชการชดใช้ทุนไปศึกษาปริญญาเอก 13 ปีเศษ เมื่อหักกลบลบกันแล้วจำเลยยังรับราชการชดใช้ทุนเกินไป 1 ปีเศษ ส่วนกรณีที่จำเลยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ไปปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ป่าไม้ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติณ ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศเป็นเวลา 2 ปีเศษนั้นจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะรับราชการเป็นระยะเวลาเท่ากับที่ได้ปฏิบัติงานดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับราชการชดเชย เมื่อจำเลยกลับจากประเทศบังคลาเทศเข้ามารับราชการให้แก่โจทก์เป็นเวลา 11 เดือนแล้วลาออกจากราชการ จึงเหลือเวลาที่จะต้องปฏิบัติราชการชดเชยให้โจทก์อีก 23 เดือน 1 วัน ซึ่งถือว่าจำเลยผิดสัญญาและต้องชำระค่าปรับให้โจทก์ตามการคำนวณจำนวนวัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 272,537.77 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 132,124.17 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 399.17 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคำสั่งของกระทรวงเกษตรนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2507 จนถึงวันที่ 15กันยายน 2509 เป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน และจำเลยที่ 1 ได้รับทุนของรัฐบาลให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่วันที่ 16กันยายน 2509 จนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2515 เป็นเวลา 6 ปี 2 เดือน 6 วันและในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2515 จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการกับโจทก์ตามปกติถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2526 และจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ไปปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ป่าไม้ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ณ ประเทศบังคลาเทศซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศนับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2526 จนถึงวันที่ 15สิงหาคม 2529 เป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน 1 วัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กลับเข้ารับราชการตามปกติให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2529 จนถึงวันที่ 14กรกฎาคม 2530 เป็นเวลา 11 เดือนแล้ว จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพอื่น ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2530 ครั้งหลังสุดจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนสุดท้าย 11,975 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวน275,425 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อชดใช้ค่าปรับกรณีผิดสัญญาในการไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2530 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอกลับเข้ารับราชการกับโจทก์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นวันเกษียณอายุราชการ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาในการปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศอีก 11 เดือน 1 วัน หรือไม่จะได้วินิจฉัยกรณีที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ศึกษาจบแล้วจะต้องรับราชการเป็นการชดเชยในกรมเจ้าสังกัด คือ โจทก์มีกำหนดไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ศึกษาหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าตามคำสั่งกระทรวงเกษตรที่ 110/2507 เรื่อง ส่งข้าราชการเข้าศึกษาปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์เอกสารหมาย จ.2 และตามคำสั่งกระทรวงเกษตรที่ 314/2508 เรื่อง ให้ข้าราชการศึกษาต่อในชั้นปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์เอกสารหมาย จ.3 และมีข้อความในตอนท้ายของคำสั่งฉบับนี้ระบุว่า และให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อนี้กับกรมเจ้าสังกัดปฏิบัติตามเงื่อนไขในระเบียบกระทรวงเกษตรว่าด้วยการลาไปศึกษาในสถานศึกษาของรัฐบาลโดยได้รับเงินเดือนเต็ม พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 11มีนาคม 2507 ด้วย และเมื่อพิจารณาระเบียบกระทรวงเกษตรว่าด้วยการลาไปศึกษาในสถานศึกษาของรัฐบาลโดยได้รับเงินเดือนเต็ม พ.ศ. 2507เอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุว่า “และเมื่อได้อนุญาตให้ข้าราชการลาไปศึกษาแล้วต้องทำสัญญาผูกมัดทำนองเดียวกับที่ได้กระทำแก่นักศึกษาที่ลาไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศด้วย” และในระเบียบข้อ 8 ระบุว่าข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต้องทำสัญญาผูกมัดให้ไว้ต่อทางราชการทำนองเดียวกับที่ได้กระทำแก่นักศึกษาที่ลาไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ และในสัญญานั้นอย่างน้อยต้องมีข้อผูกมัดไว้ดังต่อไปนี้ และข้อ 8.7 ระบุว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาข้าราชการผู้นั้นต้องรับราชการเป็นการชดเชยในกรมเจ้าสังกัดมีกำหนดไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ศึกษาโดยได้รับเงินเดือนเต็ม แต่เมื่อการนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ทำสัญญาผูกมัดกันไว้ตามระเบียบเอกสารหมายจ.4 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้จัดให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาผูกมัดและกำหนดเวลาทำงานชดเชยไว้ กรณีก็เท่ากับเป็นการไม่มีสัญญาหรือข้อผูกมัดที่จะผูกพันหรือบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบตามสัญญา ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับราชการชดเชยให้โจทก์เป็นสองเท่าของเวลาที่ไปศึกษาปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2509 จนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2515 เป็นเวลา6 ปี 2 เดือน 6 วัน จำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการชดเชยให้โจทก์เป็นเวลา 12 ปี4 เดือน 12 วัน เมื่อคำนวณระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการหลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2515 นับถึงวันที่ 15 ตุลาคม2526 เป็นเวลา 10 ปี 10 เดือน 24 วัน เมื่อรวมเวลากับที่จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2526 จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม2528 เป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน 1 วัน ซึ่งตามคำสั่งกรมป่าไม้เอกสารหมาย จ.10เรื่องให้ข้าราชการออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศระบุไว้ว่า โดยให้นับเวลาระหว่างปฏิบัติงานนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ ตามนัยหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.0201/15237 ลงวันที่ 10 ตุลาคม2526 ตามเอกสารหมาย จ.10 รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ทุนไปศึกษาปริญญาเอก 13 ปี 8 เดือน 25 วัน เมื่อหักกลบลบกันแล้วจำเลยที่ 1ยังรับราชการชดใช้ทุนเกินไป 1 ปี 4 เดือน 13 วัน ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ไปปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ป่าไม้ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติณ ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศนับตั้งแต่วันที่ 16ตุลาคม 2526 จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2529 เป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน 1 วันนั้น จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 มีสาระสำคัญในข้อ 2 ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติงานครบกำหนดเวลาตามที่ได้รับอนุมัติไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1สัญญาจะรับราชการต่อไปในกรมโจทก์ หรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร ทั้งนี้ไม่หมายถึงรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด เป็นระยะเวลาเท่ากับเวลาที่ได้ปฏิบัติงานดังกล่าว ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับราชการชดเชยเป็นเวลา 2 ปี 10 เดือน 1 วัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กลับจากประเทศบังคลาเทศมาเข้ารับราชการให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม2529 จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2530 เป็นเวลา 11 เดือน แล้วจำเลยที่ 1จึงลาออกจากราชการจึงเหลือเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการชดเชยให้โจทก์อีก 23 เดือน 1 วัน ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาข้อ 2 ตามเอกสารหมายจ.8 ตามสัญญาข้อ 3 จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ได้รับคูณด้วยจำนวนเวลาที่เหลือซึ่งคิดเป็นเดือน เมื่อได้ความว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายของจำเลยที่ 1 จำนวน 11,975 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1จึงต้องเสียค่าปรับเท่ากับ 11,975 บาท คูณด้วย 23 เดือน 1 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น275,824.17 บาท เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าปรับผิดสัญญาในการไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศให้โจทก์เป็นเงิน 275,425 บาทเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2530 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.7 แล้วดังนั้น จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระค่าปรับโจทก์เพียง 399.17 บาท เท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน