แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยได้จัดทำหนังสือภาษาจีนซึ่งมีคำแปลเป็นภาษาไทยอันมีเนื้อหาว่า “จำเลยจะชำระค่าเสียหายของสินค้าจำนวน 25,389 ชุด เป็นเงิน 116,789.40 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่อนชำระเดือนเมษายน 2536 แล้วเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายนชำระ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินจำนวนที่เหลือจะแบ่งชำระในเดือนเมษายนและเดือนกันยายน 2537” เป็นการจัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นด้วยความสมัครใจ แม้จะไม่ปรากฏว่าได้มีการทำหนังสือกันใหม่อย่างเป็นทางการก็ตาม หนังสือภาษาจีนดังกล่าวก็เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันใช้บังคับจำเลยได้ตามกฎหมาย
แม้คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกมาตรา 193/14 (1) แห่ง ป.พ.พ. ขึ้นวินิจฉัยก็เพื่อบ่งชี้ว่า การทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลผูกพันบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยส่งสินค้าไม่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้าโจทก์ ต่อมาจำเลยยินยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าหนังสือภาษาจีนดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นการวินิจฉัยถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่จะวินิจฉัยว่าหนังสือภาษาจีนดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ได้
ที่โจทก์บรรยายในคำแก้ฎีกาว่าขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งโจทก์ต้องทำเป็นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อโจทก์มิได้ยื่นเป็นฎีกาจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 2,869,965 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 2,669,735 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 44,224.40 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลพิพากษา (ราคาขาย) ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันพิพากษาแต่เมื่อคิดแล้วเป็นต้นเงินต้องไม่เกินกว่า 2,669,735 บาท ดังที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 855,610 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนในประเทศไทย ส่วนโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนในไต้หวัน โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้นายศักดาฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ค้าขายโคมไฟชุดไฟประดับต้นคริสต์มาสระหว่าง พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2535 โจทก์ที่ 2 สั่งซื้อสินค้าชุดไฟประดับต้นคริสต์มาสจากจำเลยที่ 1 ส่งไปขายให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ภายหลังปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวบางส่วนไม่ได้คุณภาพและชำรุดเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ไปตรวจสอบสินค้าที่เสียหายที่ไต้หวัน แล้วจำเลยที่ 2 ทำหนังสือเป็นภาษาจีนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 250,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว โจทก์ทั้งสองมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินที่ยังค้างอยู่แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า หนังสือภาษาจีนเป็นหนังสือรับสภาพหนี้มีผลผูกพันใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลยทั้งสองซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลในทางแปลเอกสารภาษาจีน เบิกความรับรองว่า หนังสือภาษาจีนที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นมีเนื้อหาว่าจำเลยที่ 1 จะชำระค่าเสียหายของสินค้าจำนวน 25,389 ชุด เป็นเงิน 116,789.40 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่อนชำระเดือนเมษายน 2536 แล้ว เป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายนชำระ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินจำนวนที่เหลือจะแบ่งชำระในเดือนเมษายนและเดือนกันยายน 2537 เป็นการจัดทำขึ้นด้วยความสมัครใจ แม้ต่อมาจะไม่ปรากฏว่าได้มีการทำหนังสือกันใหม่อย่างเป็นทางการก็ตาม หนังสือภาษาจีนก็เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันใช้บังคับจำเลยที่ 1 ได้ตามกฎหมาย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า หนังสือภาษาจีนเป็นหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและยังหยิบยกมาตรา 193/14 (1) ขึ้นกล่าวอ้างวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวเพราะคดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้คดีนี้จะไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นหยิบยก มาตรา 193/14 (1) แห่ง ป.พ.พ. ขึ้นวินิจฉัยก็เพื่อบ่งชี้ว่า การทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลผูกพันบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองส่งสินค้าไม่มีคุณภาพให้ลูกค้าโจทก์ทั้งสอง ต่อมาจำเลยทั้งสองยินยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหนังสือภาษาจีนว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงที่มาแห่งมูลหนี้ ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในคำฟ้อง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่จะวินิจฉัยว่าหนังสือภาษาจีนดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ได้
ที่โจทก์ทั้งสองบรรยายในคำแก้ฎีกาว่าขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งโจทก์ทั้งสองต้องทำเป็นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นเป็นฎีกาจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.