คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 888/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ ตามแผนที่ท้ายคำฟ้องก็ตาม ก็เป็นเพียงแต่การกะประมาณเนื้อที่ดินที่โจทก์ครอบครองตามสัดส่วนของตนเท่านั้น ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมีการรังวัดทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองมีเนื้อที่ 50 ไร่ 41 ตารางวา อยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาท โดยโจทก์และจำเลยต่างมิได้คัดค้าน จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ฟ้องอยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวทั้งหมด การที่ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 50 ไร่ 41 ตารางวาถึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 43 เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ ตามแผนที่การครอบครองที่ดินพิพาทท้ายฟ้อง ให้จำเลยไปทำนิติกรรมรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 43 (ที่ถูก ภายในกรอบเส้นสีเขียวทั้งหมดด้วย) เนื้อที่ 50 ไร่ 41 ตารางวา ตามแผนที่พิพาท ให้จำเลยไปทำนิติกรรมแบ่งแยกสิทธิครอบครองให้โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่านายสิงห์ทองกับนางบุญมี มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือนายเฮง จำเลยนายพา และโจทก์ ตามลำดับ เดิมนางบุญมีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 43 เนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ 84 ตารางวา ปัจจุบันโจทก์และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ในการทำแผนที่พิพาทโจทก์นำชี้ที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองเนื้อที่ 50 ไร่ 41 ตารางวา (ภายในกรอบเส้นสีเขียว) จำเลยนำชี้ส่วนที่จำเลยครอบครองเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 29 ตารางวา (ภายในกรอบเส้นสีน้ำเงิน) คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่โจทก์มีนางสมมิตร ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และนายพา เบิกความว่า เมื่อปี 2507 นางบุญมีแบ่งที่ดินพิพาทให้บุตรสี่คนได้แก่นายเฮง จำเลยนายพาและโจทก์ โดยมีแนวคันดินกั้นเป็นสัดส่วน บุตรแต่ละคนเข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยการทำนา ต่อมาวันที่ 16 เมษายน 2507 นางบุญมีจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่นายเฮง จำเลยและโจทก์ เหตุที่ไม่มีชื่อนายพาเป็นผู้รับการให้ในสารบัญการจดทะเบียนเพราะก่อนหน้านั้นนายพาขายที่ดินพิพาทส่วนของตนให้โจทก์ในราคา 24,000 บาท นายพาจึงทำหนังสือสละที่ดินให้โจทก์เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2507 ต่อมาปี 2512 นายเฮงขายที่ดินพิพาทส่วนของตนให้โจทก์ โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทั้งสามส่วนภายในกรอบเส้นสีเขียว ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยกับนายเฮงเบิกความว่า นางบุญมีแบ่งที่ดินพิพาทเป็นสามส่วนโจทก์กับนางบุญมีทำประโยชน์ส่วนหนึ่ง จำเลยและนายเฮงทำประโยชน์คนละส่วนโดยนางบุญมียังไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ใด ในปี 2507 นางบุญมีแบ่งที่ดินพิพาทให้บุตรสามคนได้แก่โจทก์ จำเลยและนายเฮง ส่วนนายพาไม่ได้รับส่วนแบ่งเพราะได้รับเงินจากการขายที่ดินแปลงอื่นของนางบุญมีไปแล้ว เห็นว่า นอกจากโจทก์มีนางสมมิตรบุตรสาวโจทก์และนายพามาเบิกความยืนยันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นสีเขียว ตามแผนที่พิพาทแล้ว โจทก์ยังมีนายล้วน มาเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว นายล้วนพยานโจทก์ปากนี้เป็นญาติทั้งโจทก์และจำเลย สำหรับนายพาเป็นน้องจำเลย ประกอบกับบุคคลทั้งสองต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความของนายล้วนกับนายพาจึงมีน้ำหนักในการับฟัง จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้คีดว่านางบุญมีไม่ได้แบ่งที่ดินพิพาทให้นายพา แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่านายพาได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาทด้วย และโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายพาตามฟ้องจริง และข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของคู่ความปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2507 นายพาได้ทำบันทึกถ้อยคำสละสิทธิที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้โจทก์ ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วย เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยให้การและนำสืบต่อสู้คดีอันเป็นเท็จ นายเฮง เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า นางบุญมีแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นสี่แปลงที่ดินแต่ละแปลงมีคันนากั้นเป็นแนวเขต โดยโจทก์ทำนาในที่ดินพิพาท 2 แปลง ส่วนพยานกับจำเลยทำนาคนละแปลง ในปี 2507 พยานทำนาในที่ดินพิพาทในส่วนที่ 1 จำเลยทำนาในส่วนที่ 2 โจทก์ทำนาในส่วนที่ 3 และที่ 4 ต่อมาพยานขายที่ดินพิพาทส่วนของตนให้โจทก์แล้วโจทก์แลกเปลี่ยนที่ดินในส่วนที่ซื้อจากพยานกับที่ดินของจำเลยเพื่อให้ที่ดินโจทก์อยู่ติดกันทุกแปลง หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยต่างทำนาในที่ดินตามที่ตกลงแบ่งส่วนกันจนถึงปัจจุบัน โดยโจทก์และจำเลยไม่เคยทะเลาะหรือโต้เถียงกัน เห็นได้ว่าคำเบิกความของนายเฮงดังกล่าวเจือสมกับทางนำสืบของโจกท์ นอกจากนี้นางปริญดา เจ้าหน้าที่ที่ดินซึ่งไปทำการรังวัดทำแผนที่พิพาทเบิกความว่า ในการรังวัดทำแผนที่พิพาทโจทก์และจำเลยต่างนำชี้ที่ดินพิพาทส่วนที่ตนครอบครองในระหว่างทำการรังวัดโจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งการรังวัดแต่อย่างใด นางปริญดายังเบิกความด้วยว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยมีแนวคันนาแบ่งแยกเป็นแนวเขตข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาทตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 50 ไร่ 41 ตารางวา เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่เศษ ตามแผนที่ท้ายคำฟ้อง ก็เป็นเพียงแต่การกะประมาณเนื้อที่ดินที่โจทก์ครอบครองตามสัดส่วนของตนเท่านั้น ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมีการรังวัดทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองมีเนื้อที่ 50 ไร่ 41 ตารางวา อยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาท โดยโจทก์และจำเลยต่างมิได้คัดค้าน จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ฟ้องอยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวทั้งหมด การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 50 ไร่ 41 ตารางวา จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share