คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยแก่จำเลยจากอัตราคงที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี การปรับอัตราดอกเบี้ยภายหลังที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้และยังไม่พ้นกำหนดเวลา 3 ปี ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่กับจำเลยดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยอาศัยเหตุที่จำเลยผิดนัดตามข้อตกลงในสัญญา หาใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามปกติโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญากู้เงินไม่ ดังนั้น เมื่อบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง มีระยะเวลาที่แน่นอน ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้ มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้
สัญญากู้เงินกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัย แต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทนผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนการชำระหนี้ตามสัญญากู้ กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระเงินแทนไปแล้ว แต่ที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยหลังจากวันฟ้อง กรณีเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่าจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ศาลชอบที่จะยกคำขอส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 จำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 894,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินและอาคาร จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 116086 ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 894,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระเงินส่วนที่ขาดจนครบถ้วน นอกจากนี้จำเลยยังสัญญาจะทำประกันอัคคีภัยทรัพย์ที่จำนองโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และจำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าเบี้ยประกันภัยตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ครบถ้วนหากจำเลยไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยและโจทก์ได้ชำระแทน จำเลยยอมชำระเงินคืนให้โจทก์หรือยอมให้โจทก์ทบเงินค่าเบี้ยประกันภัยรวมเข้ากับต้นเงินกู้และยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับสัญญากู้ตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้น ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,010,956.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 858,735.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,324.26 บาท ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกสามปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 858,735.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 อัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 อัตราร้อยละ 5.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2549 และอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โดยหักเงินที่จำเลยชำระหนี้ในวันที่ 6 ธันวาคม 2548 จำนวน 10,000 บาท ออกให้ตามวันที่ชำระด้วยการหักชำระดอกเบี้ยแล้วจึงหักเงินต้น แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 150,896.43 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 116086 ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วนให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อพิจารณาตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ข้อ 1 ระบุว่า จำเลยได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินโดยตกลงยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญากู้เงินในอัตราคงที่ร้อยละ 3.75, 4.75 และ 5.75 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนระยะเวลากู้ที่เหลือจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ MRR + 0.75 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้โดยโจทก์จะแจ้งการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MRR ที่โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ข้อเท็จจริงได้ความตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยและบัญชีเงินกู้ว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดในเดือนกันยายน 2548 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี และโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยแก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 จากอัตราคงที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี การที่โจทก์ทำการปรับดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 5.75 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้และยังไม่พ้นกำหนดเวลา 3 ปี ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่กับจำเลยดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยอาศัยเหตุที่จำเลยผิดนัดตามความในสัญญากู้ข้อ 3 ที่ระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามที่กำหนดไว้ไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ หาใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามปกติโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญากู้เงินไม่ ดังนั้น เมื่อบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง มีระยะเวลาที่แน่นอน ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้ มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้ ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ที่โจทก์คิดจากจำเลยเป็นการกำหนดค่าเสียหายเอาไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับและปรับลดลงเหลืออัตราร้อยละ 8 ต่อปี จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินข้อ 5 กำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์และในกรณีผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัย แต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทนผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนการชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่กรณีที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยหลังจากวันฟ้องกรณีเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่าจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอในส่วนนี้ของโจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share