แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การปรับเป็นโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18(4) ดังนั้น เพียงแต่ได้รับโทษปรับก็ถือว่าต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 113 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีตราเครื่องหมายการค้าของบริษัทมองเตรส โรเล็กซ์ เอส.เอ จำกัดผู้เสียหายที่ 1 บริษัทแทก-ฮอยเออร์ เอส.เอ. จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 บริษัทกุชชี่โอ กุชชี่ เอส.พี.เอ. จำกัด ผู้เสียหายที่ 3 บริษัทคาร์เทียร์ อินเตอร์เนชั่นแนลบี.วี. จำกัด ผู้เสียหายที่ 4 และบริษัทคริสเตียน ดิออร์ จำกัดผู้เสียหายที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ อันเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งห้า ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยชอบแล้วในราชอาณาจักร ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งห้า เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมทั้งยึดนาฬิกาข้อมือที่มีตราเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวรวมจำนวน 111 เรือน ไว้เป็นของกลาง ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,500 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษมีกำหนด 1 ปีตามคดีหมายเลขแดงที่ 2529/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2540 จำเลยได้รับโทษปรับและพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี จำเลยได้มากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 110, 113, 115, 117ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลางและวางโทษทวีคูณแก่จำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2529/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 108 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปีและปรับ 60,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ30,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้วางโทษทวีคูณนั้น เห็นว่า คดีก่อนมีทั้งรอการลงโทษจำคุกและปรับแม้จะถือว่าพ้นโทษปรับแล้ว แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าพ้นโทษจำคุกกรณีจึงวางโทษจำเลยทวีคูณตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 113 ไม่ได้ จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขอให้วางโทษทวีคูณแก่จำเลย
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า เมื่อจำเลยต้องโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ให้จำคุก6 เดือนและปรับ 5,500 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2529/2540 ของศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 นั้น บัดนี้จำเลยมากระทำผิดเป็นคดีนี้เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนด 5 ปี ศาลจะต้องวางโทษทวีคูณแก่จำเลยตามอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 มีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก(3) กักขัง (4) ปรับ และ(5) ริบทรัพย์สิน การปรับจึงเป็นโทษอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการที่จำเลยต้องระวางโทษให้ปรับในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 และมากระทำความผิดคดีนี้อีกจึงเป็นกรณีที่จำเลยพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี ถือว่ากรณีต้องด้วยมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534ที่บัญญัติว่า “บุคคลใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีก ให้ระวางโทษทวีคูณ” กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่าจะต้องพ้นโทษจำคุกที่รอไว้อีกหรือไม่เพราะเพียงแต่ได้รับโทษปรับก็ถือว่า ต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 นี้แล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่วางโทษทวีคูณแก่จำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษทวีคูณแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ตามมาตรา 113 จำคุก 4 ปี ปรับ 120,000บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 2 ปี ปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง