คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่พึงจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยจ่ายให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ตามข้อบังคับสหกรณ์ ถ้าสมาชิกผู้ใดออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ ดังนี้ หากสมาชิกประสงค์จะให้ผู้รับโอนประโยชน์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ก็จะต้องคงความเป็นสมาชิกไว้จนตายจะถอนเงินค่าหุ้นหรือออกจากการเป็นสมาชิกไม่ได้ และเงินทุนเรือนหุ้นหรือเงินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่กับสหกรณ์ก็มิใช่เงินที่สมาชิกสามารถที่จะเบิกถอนไปใช้ได้ก่อน เว้นแต่จะออกจากการเป็นสมาชิกแล้วซึ่งก็ยังมีเงื่อนไขที่อาจจะไม่ได้รับเต็มจำนวนก็ได้ เงินค่าหุ้นจึงมีลักษณะพิเศษที่มิใช่เป็นทรัพย์ของสมาชิกโดยแท้ เมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติให้สมาชิกสหกรณ์สามารถทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้นหรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน การจะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ก็ต้องทำเป็นหนังสือในลักษณะเดียวกันมอบให้สหกรณ์ถือไว้ และถ้าในที่สุดไม่มีผู้รับเงิน เงินนั้นก็จะนำไปสมทบเป็นเงินทุนสำรองของสหกรณ์ เมื่อเงินค่าหุ้นและเงินสงเคราะห์มีลักษณะพิเศษตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยเพื่อให้การบริหารเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยสะดวกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและออกตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติการจัดการเงินของสมาชิกสหกรณ์ไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีผลบังคับได้นอกเหนือจากการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของผู้ตายจึงมีผลบังคับได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบพินัยกรรมและไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม โดยมีผลบังคับแตกต่างจากการทำพินัยกรรม เมื่อผู้ตายทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในทุนเรือนหุ้นไว้แก่สหกรณ์จำเลยแล้ว ทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นมรดกของผู้ตายที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทุนเรือนหุ้นนั้นให้แก่ผู้อื่นอีก โดยเป็นกรณีที่มีกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นที่ทำให้ทายาทต้องเสียไปซึ่งสิทธิในมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคสอง หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนเงินทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายและไม่ตกเป็นโมฆะ

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าพินัยกรรมหรือหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่นายทวีศักดิ์ทำไว้กับจำเลยเป็นโมฆะ และให้จำเลยชำระเงิน 149,690 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวนงนุช เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนที่เป็นพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 94,690 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาล 7,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 เดิมใช้ชื่อว่า สหกรณ์ออมทรัพย์บริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์บริษัททีโอที จำกัด นายทวีศักดิ์ ผู้ตายเป็นสมาชิกของสหกรณ์จำเลยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2526 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2548 นายทวีศักดิ์ได้ทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่จำเลย โดยหนังสือดังกล่าวระบุจำเลยร่วมและโจทก์เป็นผู้รับโอนประโยชน์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 37 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 นายทวีศักดิ์ถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อนายทวีศักดิ์ถึงแก่ความตายมีผลประโยชน์ที่จะได้รับจากจำเลย 299,400 บาท เป็นทุนเรือนหุ้น 189,400 บาท เงินสงเคราะห์ 150,000 บาท แต่นายทวีศักดิ์รับเงินสงเคราะห์ไปแล้ว 40,000 บาท และระเบียบของจำเลย ว่าด้วยการให้สวัสดิการสมาชิกและการใช้ทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ พ.ศ.2557 โจทก์และจำเลยร่วมได้ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ดังกล่าวจากจำเลย และจำเลยได้โอนเงินผลประโยชน์ของผู้ตายให้แก่โจทก์ 149,695 บาท ให้แก่จำเลยร่วม 149,690 บาท โดยหักค่าธรรมเนียมการโอนของธนาคารออกจากเงินที่มีสิทธิได้รับ 5 บาท และ 10 บาท ตามลำดับ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนเงินทุนเรือนหุ้นเป็นพินัยกรรมของผู้ตายและตกเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 6 ทุนเรือนหุ้นนั้นเป็นเงินสะสมที่สมาชิกของจำเลยจะต้องชำระให้แก่จำเลยเป็นรายเดือนทุกเดือน แต่สมาชิกจะขายหรือโอน หรือถอนคืนหุ้นในระหว่างที่ตนยังเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ ข้อ 37 “การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ สมาชิกสามารถทำเป็นหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคน เพื่อให้เป็นผู้รับโอนประโยชน์ซึ่งตนมีอยู่ในสหกรณ์ในเมื่อตนตายและมอบให้สหกรณ์ถือไว้
ถ้าสมาชิกประสงค์จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ทำไว้แล้ว ก็ต้องทำเป็นหนังสือตามลักษณะดังกล่าวในวรรคก่อนมอบให้สหกรณ์ถือไว้
เมื่อสมาชิกตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคก่อนทราบ และสหกรณ์จะจ่ายเงินค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และเงินผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดบรรดาที่สมาชิกผู้ตายมีอยู่ในสหกรณ์ หรือมีสิทธิได้รับจากสหกรณ์ให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ก็มอบให้แก่ผู้จัดการมรดกหรือบุคคลที่นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับของสหกรณ์ข้อ 42 และข้อ 43
ให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคแรก ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ต่อสหกรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สมาชิกตายหรือได้รับแจ้งจากสหกรณ์ โดยให้แนบสำเนามรณบัตรที่ทางราชการออกให้แสดงว่าสมาชิกนั้น ๆ ได้ถึงแก่ความตายไปประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาและอนุมัติแล้ว สหกรณ์จะจ่ายเงินผลประโยชน์ดังกล่าวภายในสี่สิบห้าวัน ในกรณีผู้มีสิทธิรับเงินผลประโยชน์ไม่ยื่นคำร้องขอรับเงินผลประโยชน์หรือผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนประโยชน์ที่สมาชิกได้จัดทำให้สหกรณ์ถือไว้ไม่มีตัวตนอยู่ก็ดี เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดี ให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าวไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น” ข้อบังคับของจำเลยข้อ 37 นี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 มาตรา 8 ที่ให้เพิ่มความมาตรา 42/2 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยบัญญัติว่า “สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน” และตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวข้อ 42 และข้อ 43 ยังกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกที่พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ โดยอาจจะต้องหักการขาดทุนของสหกรณ์ออกก่อน หรือสหกรณ์มีอำนาจหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ออกก่อนก็ได้ นอกจากนี้ตามระเบียบของจำเลย ว่าด้วยการให้สวัสดิการสมาชิกและการใช้ทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ ข้อ 6 กำหนดว่า สมาชิกผู้ใดถึงแก่กรรมให้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ “…6.2 เป็นสมาชิกเกินกว่า 24 เดือน จะรับเงินสงเคราะห์…20,000 บาท บวกจำนวนเดือนที่เป็นสมาชิกเกินกว่า 24 เดือน รับเงินสงเคราะห์เพิ่มเดือนละ 500 บาท รวมแล้วไม่เกิน 150,000 บาท…” ข้อ 12 “สหกรณ์ (จำเลย) จ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับดังต่อไปนี้ 12.1 กรณีสมาชิกถึงแก่กรรมจ่ายเงินให้แก่บุคคลที่สมาชิกแต่งตั้งให้เป็นผู้รับโอนประโยชน์ตามข้อบังคับสหกรณ์ฯ แต่ถ้าสมาชิกไม่ได้แต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ สหกรณ์จะจ่ายเงินให้แก่ผู้จัดการมรดกหรือคู่สมรสหรือบุตรหรือบิดาหรือมารดาของผู้ถึงแก่กรรมตามลำดับ” จากระเบียบของจำเลยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเงินสงเคราะห์เป็นเงินที่พึงจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยจ่ายให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ตามข้อบังคับสหกรณ์ ถ้าสมาชิกผู้ใดออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ ดังนี้ หากสมาชิกประสงค์จะให้ผู้รับโอนประโยชน์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ก็จะต้องคงความเป็นสมาชิกไว้จนตายจะถอนเงินค่าหุ้นหรือออกจากการเป็นสมาชิกไม่ได้ และเงินทุนเรือนหุ้นหรือเงินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่กับสหกรณ์ก็มิใช่เงินที่สมาชิกสามารถที่จะเบิกถอนไปใช้ได้ก่อนเว้นแต่จะออกจากการเป็นสมาชิกแล้วซึ่งก็ยังมีเงื่อนไขที่อาจจะไม่ได้รับเต็มจำนวนก็ได้ เงินค่าหุ้นจึงมีลักษณะพิเศษที่มิใช่เป็นทรัพย์ของสมาชิกโดยแท้ เมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติให้สมาชิกสหกรณ์สามารถทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้นหรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน การจะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ก็ต้องทำเป็นหนังสือในลักษณะเดียวกันมอบให้สหกรณ์ถือไว้ และถ้าในที่สุดไม่มีผู้รับเงิน เงินนั้นก็จะนำไปสมทบเป็นเงินทุนสำรองของสหกรณ์ เมื่อเงินค่าหุ้นและเงินสงเคราะห์มีลักษณะพิเศษตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยดังกล่าวเพื่อให้การบริหารเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยสะดวกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและออกตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติการจัดการเงินของสมาชิกสหกรณ์ไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีผลบังคับได้นอกเหนือจากการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของผู้ตายจึงมีผลบังคับได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบพินัยกรรมและไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม โดยมีผลบังคับแตกต่างจากการทำพินัยกรรม เมื่อผู้ตายทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในทุนเรือนหุ้นไว้แก่สหกรณ์จำเลยแล้ว ทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นมรดกของผู้ตายที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทุนเรือนหุ้นนั้นให้แก่ผู้อื่นอีก โดยเป็นกรณีที่มีกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นที่ทำให้ทายาทต้องเสียไปซึ่งสิทธิในมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคสอง หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนเงินทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายและไม่ตกเป็นโมฆะ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ดังนี้ การที่จำเลยชำระเงินค่าหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยร่วมตามหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์จึงเป็นการกระทำไปโดยมีสิทธิที่จะทำได้ ไม่เป็นการกระทำละเมิดแก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยและจำเลยร่วมจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ แม้จำเลยร่วมไม่ได้ฎีกา แต่เป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม)
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share