แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้คำฟ้องฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ผู้ฎีกาจะต้องบรรยายคำฟ้องฎีกาให้แจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ก็ตาม แต่คำฟ้องฎีกาไม่จำเป็นต้องบรรยายเนื้อหาแห่งคำฟ้องเดิม คำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะคำฟ้อง คำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีปรากฏอยู่ในสำนวนของศาลแล้ว คำฟ้องฎีกาเพียงแต่บรรยายคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ชัดแจ้งโดยแสดงเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ปรากฏทั้งระบุ คำขอท้ายคำฟ้องฎีกามาให้ชัดเจนก็เป็นคำฟ้องฎีกาที่สมบูรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน76,714,357.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.25 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างโดยวิธีการถอดแบบ นำจำนวนวัสดุมาคำนวณราคารวมกับค่าแรงงานในการก่อสร้างโดยถือราคามาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่าฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลฎีกาจะรับไว้วินิจฉัยได้หรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวแก้ฎีกาว่าฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 249 เนื่องจากคำฟ้องฎีกาถือเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) จึงต้องบรรยายให้ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกาก็จะต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ตามคำฟ้องฎีกาของโจทก์กลับมิได้บรรยายถึงเนื้อหาในคำฟ้องเดิมและคำให้การให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ฟ้องว่าอย่างไร จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีประการใด และศาลชั้นต้นตั้งประเด็นว่าอย่างไร โจทก์คงบรรยายคำฟ้องฎีกาแต่เพียงว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษาว่าอย่างไรเท่านั้น จึงเป็นคำฟ้องฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาคณะคดีปกครองโดยมติที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยปัญหานี้ว่า แม้คำฟ้องฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ผู้ฎีกาจะต้องบรรยายคำฟ้องฎีกาให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองและมาตรา 249 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ก็ตาม แต่คำฟ้องฎีกาไม่จำเป็นต้องบรรยายเนื้อหาแห่งคำฟ้องเดิม คำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะทั้งคำฟ้องเดิม คำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีปรากฏอยู่ในสำนวนของศาลแล้ว คำฟ้องฎีกาเพียงแต่บรรยายคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ชัดแจ้งโดยแสดงเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ปรากฏทั้งระบุคำขอท้ายคำฟ้องฎีกามาให้ชัดเจนก็เป็นคำฟ้องฎีกาที่สมบูรณ์ คำฟ้องฎีกาในคดีนี้โจทก์บรรยายโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแต่ละแปลงมาโดยชัดแจ้งและมีคำขอบังคับให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่ม กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลมาท้ายคำฟ้องฎีกาครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายเนื้อหาแห่งคำฟ้องเดิม คำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วยคำฟ้องฎีกาของโจทก์ก็เป็นคำฟ้องฎีกาที่สมบูรณ์ หาใช่คำฟ้องฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวในคำแก้ฎีกาไม่ ศาลฎีกาจึงชอบที่จะรับคำฟ้องฎีกาของโจทก์ไว้วินิจฉัย”
พิพากษายืน