แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
จำเลยเป็นฝ่ายออกเงินซื้อที่ดินแปลงพิพาททั้งหมดในราคา60,000บาทแล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมด้วยการที่สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระบุว่าตกลงซื้อขายกันในราคา25,000บาทแต่จำเลยนำสืบว่าซื้อมาในราคา60,000บาทเป็นการนำสืบถึงความเป็นจริงในระหว่างผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันย่อมนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข) โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นของตนครึ่งหนึ่งทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์มีส่วนเพียง1ใน3ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งตามความเป็นจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(2) คดีที่พิพาทกันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคสองแม้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน50,000บาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินมีโฉนดที่โจทก์ครอบครองโดยอ้างว่าเป็นของโจทก์ครึ่งหนึ่งของโฉนดแม้มิได้ขอเจาะจงว่าที่ดินส่วนใดเป็นของโจทก์แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทตอนใต้ของถนนเนื้อที่1ใน3ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน1301/2ตารางวาเป็นของโจทก์ศาลย่อมพิพากษาว่าที่พิพาทด้านทิศใต้ของถนนตลอดแนวเป็นของโจทก์ได้หาเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือคำฟ้องไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8531 ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีเนื้อที่ 3 งาน 91 ตารางวา เป็นของโจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภรรยาร่วมกันถือกรรมสิทธิ์อีกครึ่งหนึ่ง โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา โจทก์มีความประสงค์ขอแบ่งแยกที่ดินแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8531 ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยทั้งสองไม่ทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ก็ให้ขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง แล้วแบ่งเงินให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองให้การว่า ปี พ.ศ. 2511 จำเลยทั้งสองได้ติดต่อซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8531 ตำบลสุรศักดิ์ (ศรีราชา) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 3 งาน 91 ตารางวา ในราคา 60,000 บาท ได้จดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 15ตุลาคม 2511 ก่อนจดทะเบียนซื้อขายด้วยความสงสารโจทก์ซึ่งเป็นพี่จำเลยที่ 1ร่วมบิดามารดาเดียวกันและครอบครัวที่ไม่มีที่ดินของตนเองปลูกบ้านอยู่ จำเลยทั้งสองจึงตกลงให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8531 แก่โจทก์เพื่อใช้ปลูกบ้านเนื่องที่ประมาณ 40 ตารางวาจำเลยทั้งสองได้นำโจทก์ไปจดทะเบียนลงชื่อร่วมกับจำเลยทั้งสองในโฉนดด้วยซึ่งความจริงจำเลยเป็นคนออกเงินซื้อที่ดินนั้นแต่ฝ่ายเดียว และเพื่อหลบค่าธรรมเนียมการโอน จึงได้จดทะเบียนระบุว่าซื้อขายกันในราคา 25,000 บาท ซึ่งความจริงซื้อมาในราคา 60,000 บาท และเนื่องจากจำเลยทั้งสองมีบ้านอยู่ในที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 8531 (แปลงพิพาท) ทางด้านทิศตะวันตกเมื่อซื้อที่ดินแปลงพิพาทแล้วจำเลยจึงแบ่งที่ดินแปลงพิพาททำเป็นทางเข้าออกจากบ้านของจำเลยสู่ถนนสาธารณะ โดยทำเป็นทางจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกกว้างประมาณ 4 เมตร และจำเลยได้ชี้เขตที่ดินประมาณ 40 ตารางวา แบ่งให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เป็นส่วนสัดตั้งแต่นั้นมาแต่ยังมิได้แบ่งโฉนดกันจำเลยทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลือจนเต็มเนื้อที่โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันประมาณ14 ปีแล้ว เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2516 โจทก์จึงเริ่มเข้าปลูกบ้านในที่ดินจำนวน40 ตารางวาของโจทก์และต่อมาในปี พ.ศ. 2523 โจทก์จึงย้ายครอบครัวเข้าไปพักในบ้านของโจทก์มาจนบัดนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 8531 เพียงเท่าที่ปลูกบ้านอยู่เป็นเนื้อที่ 40 ตารางวา พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8531 ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ 40 ตารางวาที่ปลูกบ้าน หากจำเลยทั้งสองไม่จัดการแบ่งแยกให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วนและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ในปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทคนละครึ่งกับจำเลยหรือจำเลยเป็นฝ่ายออกเงินซื้อที่ดินแปลงพิพาททั้งหมดแล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีเหตุผลรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายออกเงินซื้อที่ดินแปลงพิพาทนี้มาทั้งหมดในราคา60,000 บาท แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมด้วย เนื่องจากโจทก์เป็นพี่ชายของจำเลยที่ 1 และเคยเป็นหัวหน้าควบคุมคนงานทำไร่ ทำผลประโยชน์ให้แก่จำเลยที่โจทก์อ้างว่าได้ออกเงินซื้อที่ดินคนละครึ่งกับจำเลยนั้นฟังไม่ขึ้น และวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระบุว่าตกลงซื้อขายกันในราคา 25,000 บาท แต่จำเลยนำสืบว่าซื้อมาในราคา 60,000 บาทนั้นเป็นการนำสืบถึงความเป็นจริงในระหว่างผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันย่อมนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทเป็นจำนวนเท่าใด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อซื้อที่พิพาทมาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ตัดถนนผ่านที่พิพาทจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกเข้าสู่ที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่ง ทำให้ที่พิพาทแบ่งออกเป็น 2 แปลง คือแปลงด้านทิศเหนือของถนนกับแปลงด้านทิศใต้ของถนนโดยเฉพาะแปลงด้านทิศเหนือมีเนื้อที่มากกว่าแปลงด้านทิศใต้ 2 เท่า เมื่อโจทก์เข้าปลูกบ้านในที่พิพาทก็ปลูกทางด้านทิศใต้ของถนนโดยปลูกบ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ทางสาธารณะ และเมื่อจำเลยปลูกกล้วยไม้และปลูกบ้านให้เช่าเมื่อปี พ.ศ. 2522 ก็ปลูกบ้านทางด้านทิศเหนือของถนน จำเลยเพิ่งจะมาปลูกบ้านอีกหลังหนึ่งพร้อมกับโรงรถทางด้านทิศใต้ของถนน เมื่อก่อนโจทก์ฟ้องคดีเพียง 1 เดือนเศษเท่านั้นซึ่งฝ่ายโจทก์ได้ห้ามปรามแต่จำเลยไม่เชื่อฟัง โจทก์จึงไฟแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ เมื่อจำเลยปลูกโรงรถได้มีการตัดต้นมะม่วงที่โจทก์ปลูกไว้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ศาลแขวงชลบุรีพิพากษายกฟ้องเพราะคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนตัดต้นมะม่วงนั้นตามพฤติการณ์แสดงอยู่ว่า นอกจากโจทก์จะปลูกบ้านทางด้านใต้ของถนนแล้วทางฝ่ายโจทก์ยังได้ครอบครองที่พิพาททางด้านทิศใต้ของถนนนั้นด้วย ที่จำเลยอ้างว่าตกลงยกที่พิพาทให้โจทก์เพียง 40 ตารางวาเพื่อให้ปลูกบ้านนั้น เห็นว่าถ้าจำเลยตกลงยกที่ดินให้โจทก์เพียง 40 ตารางวา แต่เหตุใดเมื่อไปจดทะเบียนซื้อขายกันนั้น จำเลยจึงไม่จดแจ้งไว้ในโฉนดด้วยว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่พิพาทเป็นจำนวนกี่ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมด กรณีมีเหตุน่าเชื่อว่า การที่จำเลยทั้งสองซื้อที่พิพาทมาและใส่ชื่อโจทก์ให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยทั้งสองด้วยนั้นก็โดยเจตนายกที่พิพาทให้แก่โจทก์ 1 ใน 3 ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมด และเมื่อซื้อมาแล้วได้ตกลงกันให้ที่พิพาทตอนใต้ของถนนเป็นของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ครอบครองตลอดมาที่จำเลยต่อสู้ว่ายกที่พิพาทให้โจทก์เพียง 40 ตารางวาเท่าที่ปลูกบ้านนั้นฟังไม่ขึ้นและที่โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนครึ่งหนึ่ง ก็เป็นการกล่าวอ้างเกินความจริงซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งตามความเป็นจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) ในปัญหาที่จำเลยแก้ฎีกาอ้างว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 เพราะเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีที่พิพาทกันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8531ตำบลสุรศักดิ์ (ศรีราชา) อำเภอศรีราชา (บางพระ) จังหวัดชลบุรี ให้แก่โจทก์เป็นจำนวน130 เศษ 1 ส่วน 3 ตารางวา โดยให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งทางด้านทิศใต้ของถนนตลอดแนว หากจำเลยทั้งสองไม่จัดการแบ่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ