คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกนำมาร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 4 ลูกจ้างผู้ขับรถคันนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4
เมื่อได้ความว่าห้างจำเลยที่ 4 ยังประกอบการขนส่งสาธารณะอยู่ แม้ใบอนุญาตขนส่งจะหมดอายุแล้ว ห้างจำเลยที่ 4 ก็ยังไม่พ้นความรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ลูกจ้างกระทำลงในการขนส่งนั้น
แม้ผู้ตายจะมีอายุ 64 ปี แต่ร่างกายยังแข็งแรงไม่เจ็บป่วยยังสามารถประกอบอาชีพได้ ถ้าหากผู้ตายไม่ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเสียก่อนย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าผู้ตายจะมีชีวิตต่อไปอีกมากกว่า 2 ปี โจทก์ซึ่งเป็นภริยาไม่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากเงินเดือนที่ผู้ตายมอบให้เดือนละ 5,000 บาท ตามพฤติการณ์ดังกล่าวที่ศาลล่างกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 96,000 บาท จึงเป็นการเหมาะสมแล้ว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่าทำละเมิดและฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะนายจ้างให้ร่วมรับผิดด้วย กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรลดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 จะพึงชดใช้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของรถยนต์เลขทะเบียน ก.ท.ก.๐๖๓๘ โจทก์ที่ ๒ เป็นภรรยาผู้ตาย จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นเจ้าของรถยนต์เลขทะเบียน อ.ต.๐๐๘๒๘ และเข้ามาดำเนินการร่วมกันในการขนส่งสินค้า จำเลยที่ ๔ ประกอบกิจการขนส่ง ซึ่งรถยนต์ อ.ต.๐๐๘๒๘ ได้รับอนุญาตทำการขนส่งในนามของห้างจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ ประกอบกิจการขนส่งสินค้า และได้ใช้รถยนต์บรรทุกหมายเลข อ.ต.๐๐๘๒๘ ขนส่งสินค้า จำเลยที่ ๑ ขับรถคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์ สามีโจทก์ที่ ๒ ถึงแก้ความตาย และรถของโจทก์เสียหายยับเยิน ขอให้จำเลยทั้ง ๕ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ขายรถยนต์คันเกิดเหตุให้จำเลยที่ ๒ ไปแล้วก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียว โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินควร
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยนำรถคันเกิดเหตุมารับส่งสินค้าในนามหรือร่วมกับจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างและขับรถในธุรกิจของจำเลยที่ ๔
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๕ การที่รถชนกันเป็นเพราะโจทก์ที่ ๑ มีส่วนประมาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑, ๓, ๔, ๕ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ ๑ รวมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ ๙๒,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ที่ ๒ และจำเลยที่ ๓, ๔, ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑, ๓, ๔ ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ ๒ รวม ๑๒๓,๕๙๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓, ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นรถของจำเลยที่ ๓ ห้างจำเลยที่ ๔ ดำเนินกิจการขนส่งสาธารณะโดยมีรถของจำเลยที่๓ เข้าร่วมกิจการกับห้างจำเลยที่ ๔ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ถือได้ว่าเป็นกิจการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ ๔ ด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถคันนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จำเลยที่ ๓, ๔ จึงต้องร่วมรับผิด และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าห้างจำเลยที่ ๔ ยังประกอบการขนส่งสาธารณะอยู่ แม้ใบอนุญาตจะหมดอายุแล้วห้างจำเลยที่ ๔ ก็ไม่พ้นความรับผิด
สำหรับค่าขาดไร้อุปการะนั้น จำเลยทั้งสองโต้เถียงว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๔ ปี มากเกินไป ควรให้เพียงเดือนละ ๘๐๐ บาท เป็นเวลา ๒ ปี เพราะผู้ตายมีอายุมากกว่า ๖๐ ปีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ผู้ตายมีอายุ ๖๔ ปี แต่ร่างกายก็ยังแข็งแรงและไม่เจ็บป่วย ยังสามารถประกอบการอาชีพได้ ดังนี้ ถ้าหากผู้ตายไม่ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเสียก่อน ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าผู้ตายจะมีชีวิตต่อไปอีกมากกว่า ๒ ปี โจทก์ที่ ๒ ไม่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากเงินเดือนของผู้ตายซึ่งมอบให้ใช้จ่ายเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่ผู้ตายอุปการะมาแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๔ ปี เป็นเงิน ๙๖,๐๐๐ บาท เหมาะสมแล้ว
อนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ว่าทำละเมิดและฟ้องจำเลยที่ ที่ ๔ ในฐานะนายจ้างให้ร่วมรับผิดด้วย กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้ยันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรลดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จะพึงชดใช้แก่โจทก์ลง แม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้ฎีกาก็เห็นสมควรพิพากษาให้มีผลจึงถึงจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๔๐,๕๐๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share