คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4553/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดวันจดทะเบียนการเช่าตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันมิได้ให้อำนาจจำเลยเปลี่ยนแปลงวันจดทะเบียนการเช่าได้โดยพลการ การเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าจึงต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งเหตุขัดข้องขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าเป็นเพียงข้อเสนอขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าออกไปเท่านั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้ตอบตกลง ทั้งไม่ได้กระทำการอันใดขึ้นอันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ แต่ตรงกันข้ามโจทก์กลับมอบอำนาจให้ ศ. ไปจดทะเบียนการเช่าแทนตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้เดิมอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ยอมตกลงตามข้อเสนอของจำเลย การเสนอขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าของจำเลยจึงไม่มีผล ต้องถือตามกำหนดนัดเดิม เมื่อจำเลยไม่ไปตามนัด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ว่าหากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการเช่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาตลอดจนเรียกร้องจำเลยคืนเงินมัดจำและค่าตอบแทนการเช่าที่รับไว้ทั้งหมดพร้อมค่าชดเชยความเสียหายอีก 3,600,000 บาท นั้น ในส่วนค่าชดเชยความเสียหายเป็นเรื่องจำเลยสัญญาแก่โจทก์ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ ดังนั้นเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนการเช่ากับโจทก์ โจทก์มีสิทธิริบเบี้ยปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลยหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่าให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน คดีนี้นอกจากค่าเช่าเป็นรายเดือนแล้ว จำเลยเรียกค่าตอบแทนการเช่าจากโจทก์ 18,000,000 บาท โจทก์ชำระเงินงวดแรกให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา 1,800,000 บาท ที่เหลือ 16,200,000 บาทจะชำระในวันจดทะเบียน หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนการเช่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วได้ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องทั้งโจทก์และจำเลยต่างกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็ยอมรับในเบี้ยปรับที่อีกฝ่ายกำหนดไว้ด้วยแม้จำนวนเบี้ยปรับที่โจทก์จะได้รับในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจะสูงกว่าเบี้ยปรับที่จำเลยจะได้รับในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาแต่จำเลยก็ได้เปรียบโจทก์ในส่วนที่จำเลยได้เงินของโจทก์ไว้แล้วถึง 1,800,000 บาท แต่โจทก์ไม่ได้ทรัพย์สินของจำเลยไว้ นอกจากนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537 จำเลยให้การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทยเช่าที่ดินและสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวเป็นเวลา 17 ปี ได้เงินค่าตอบแทนการเช่าและค่าเช่ารายเดือนเป็นจำนวนสูงกว่าที่โจทก์เสนอให้ซึ่งหากทั้งโจทก์และการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทยไม่เห็นว่าจะมีรายได้จากสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นจำนวนสูงกว่าค่าตอบแทนการเช่าและค่าเช่ารายเดือนที่ต้องจ่ายให้จำเลย พร้อมทั้งดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวในอัตราที่จะได้จากธนาคารหากนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากธนาคารแล้ว โจทก์และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็คงจะไม่ทำสัญญาเช่ากับจำเลยเป็นแน่ การที่จำเลยผิดสัญญาย่อมทำให้โจทก์ขาดรายได้ดังกล่าวไปแม้พยานโจทก์ที่กล่าวถึงจำนวนเงินกำไรที่โจทก์จะได้รับหากมีการเช่าตามสัญญาเป็นเวลา 16 ปี จะเป็นไปอย่างลอย ๆ ไม่ได้แสดงหลักเกณฑ์ในการคำนวณหารายได้ดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ลดจำนวนเงินเบี้ยปรับที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ลงเหลือ 3,000,000 บาท อันเป็นจำนวนที่สมควรแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2536 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2740 และ 6574 รวมเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือสถานีบริการน้ำมันและเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จากจำเลยเป็นเวลา 16 ปี ตกลงให้ค่าตอบแทนการเช่าแก่จำเลย 18,000,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวดงวดแรกชำระในวันทำสัญญาเป็นเงินมัดจำและค่าตอบแทนการเช่าส่วนหนึ่งเป็นเงิน 1,800,000 บาท งวดที่ 2 ชำระในวันที่15 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนการเช่าเป็นเงิน16,200,000 บาท แต่จำเลยผิดนัดไม่ยอมไปจดทะเบียนการเช่าโจทก์มีหนังสือกำหนดวันนัดจดทะเบียนการเช่าอีกครั้งในวันที่28 มิถุนายน 2536 จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน2536 แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่ไปตามนัดอีก โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยต้องคืนเงิน 1,800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงิน74,342.47 บาท และเงินชดเชยความเสียหายตามสัญญา 3,600,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,474,342.47 บาท แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,474,342.47 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 จากต้นเงิน 5,400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ผิดสัญญา ก่อนถึงวันที่15 มิถุนายน 2536 จำเลยมีหนังสือแจ้งไปยังตัวแทนโจทก์ว่าจำเลยมีเหตุขัดข้องคือยังไม่ได้รับหนังสือยกเลิกการเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และยังไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารผู้รับจำนองทรัพย์สินที่ทำสัญญาเช่าให้ไปจดทะเบียนการเช่ากับโจทก์ได้ ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่ก่อนวันทำสัญญาแล้ว ขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าไปเป็นวันที่31 สิงหาคม 2536 จำเลยคิดว่าโจทก์ยินยอมจึงไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนการเช่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ไปดำเนินการตามสัญญาจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ชำระเงิน 1,800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 74,342.47 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนค่าเสียหายให้จำเลยชำระเงิน 1,800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2536 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2740และ 6574 รวมเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างคือ สถานีบริการน้ำมันและเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จากจำเลยเป็นเวลา 16 ปี ตกลงให้ค่าตอบแทนการเช่าแก่จำเลย18,000,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระในวันทำสัญญา1,800,000 บาท โดยถือว่าเป็นเงินมัดจำและค่าตอบแทนการเช่าส่วนหนึ่ง งวดที่ 2 จะชำระในวันที่ 15 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวัดจดทะเบียนการเช่า 16,200,000 บาท กับจะให้ค่าเช่าปีที่ 1ถึงปีที่ 5 เดือนละ 10,000 บาท ปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 เดือนละ30,000 บาท และปีที่ 11 ถึงปีที่ 11 ถึงปีที่ 16 เดือนละ50,000 บาท หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการเช่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาตลอดจนเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินมัดจำและค่าตอบแทนการเช่าที่รับไว้ทั้งหมดพร้อมค่าชดเชยความเสียหายอีก3,600,000 บาท หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนการเช่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับริบเงินมัดจำและเงินค่าตอบแทนการเช่าตลอดจนเงินค่าเช่าที่ได้รับไว้ทั้งหมด ในกรณีที่มีการผิดสัญญาคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายทราบ และปฏิบัติตามสัญญาก่อนภายใน 7 วันเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คู่สัญญาฝ่ายที่เสียหายจึงสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ในการแสดงเจตนาหรือส่งคำบอกกล่าวใด ๆไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้แจ้งโดยวิธีส่งจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของคู่สัญญาที่ปรากฏในสัญญาและถือว่าเป็นการส่งคำบอกกล่าวโดยชอบตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4โจทก์ได้ชำระเงินงวดแรก 1,800,000 บาท ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2536 จำเลยมีหนังสือถึงนายฐนันดร์ มฤคทัต ผู้จัดการฝ่ายขายปลีกของโจทก์ ซึ่งมีหน้าที่จัดหาดูแลสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ทั่วประเทศ ขอเลื่อนการจดทะเบียนการเช่าไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2536 โดยแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถไปจดทะเบียนการเช่าภายในกำหนดตามสัญญาได้ว่าเป็นเพราะการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยยังไม่อนุมัติให้เลิกสัญญา และธนาคารทหารไทย จำกัด ผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวยังไม่อนุมัติให้นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนการเช่า กับขอเปลี่ยนคู่สัญญาจากจำเลยเป็นนายสุนทร พันโย ตามเอกสารหมายล.1 โดยส่งหนังสือดังกล่าวไปยังนายฐนันดร์ที่บริษัทโจทก์อันเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4ตามสำเนาใบรับฝากเอกสารหมาย ล.2 นายฐนันดร์เสนอเอกสารดังกล่าวไปยังนายพิศณุ จำเริญรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อขออนุมัติตั้งสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ตกลงและไม่ตอบเอกสารหมาย ล.1 ครั้นถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2536 โจทก์มอบอำนาจให้นายศิริมงคล พ.จานุพิบูล ไปจดทะเบียนการเช่าแทน แต่จำเลยไม่ไปตามนัด โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 17 มิถุนายน 2536 แจ้งจำเลยให้ไปจดทะเบียนการเช่าใหม่ในวันที่ 28 มิถุนายน 2536 ตามหนังสือกำหนดนัดวันจดทะเบียนนิติกรรมการเช่าเอกสารหมาย จ.13หนังสือดังกล่าวส่งถึงจำเลยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2536 ตามใบตอบรับและใบรับฝากเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ในวันที่28 มิถุนายน 2536 จำเลยไม่ได้ไปตามนัดโจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.16
ปัญหาที่จะวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าไปตามเอกสารหมาย ล.1 แล้ว การที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ยินยอมหรือไม่ ถือว่าโจทก์ยอมรับการขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าของจำเลยแล้วหรือไม่ เห็นว่าการกำหนดวันจดทะเบียนการเช่าตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นการกำหนดตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันในเอกสารหมาย จ.4 มิได้ให้อำนาจจำเลยเปลี่ยนแปลงวันจดทะเบียนการเช่าได้โดยพลการ การเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าจึงต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งเหตุขัดข้อง ขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าเป็นเพียงข้อเสนอขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าออกไปเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ตอบตกลงทั้งไม่ได้กระทำการอันใดขึ้นอันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ แต่ตรงกันข้ามโจทก์กลับมอบอำนาจให้นายศิริมงคลไปจดทะเบียนการเช่าแทนตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้เดิม อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ยอมตกลงตามข้อเสนอของจำเลย การเสนอขอเลื่อนวันจดทะเบียนการเช่าของจำเลยจึงไม่มีผล ต้องถือตามกำหนดนัดเดิมเมื่อจำเลยไม่ไปตามนัดจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองในปัญหาข้อนี้ชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นและเมื่อจำเลยตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากโจทก์ไม่ยินยอมกับการขอเลื่อนวันนัดของจำเลยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยส่งหนังสือขอเลื่อนวันนัดถึงนายฐนันดร์ถือว่าเป็นการส่งให้แก่โจทก์โดยชอบหรือไม่
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่าโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ว่าหากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการเช่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาตลอดจนเรียกร้องจำเลยคืนเงินมัดจำและค่าตอบแทนการเช่าที่รับไว้ทั้งหมด พร้อมค่าชดเชยความเสียหายอีก3,600,000 บาท นั้น ในส่วนค่าชดเชยความเสียหายเป็นเรื่องจำเลยสัญญาแก่โจทก์ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนการเช่ากับโจทก์ โจทก์มีสิทธิริบเบี้ยปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลยหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่เสียหายไม่อาจริบเบี้ยปรับได้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เบี้ยปรับที่ศาลอุทธรณ์กำหนดนั้นสูงเกินส่วน แต่โจทก์ฎีกาว่า เบี้ยปรับที่ศาลอุทธรณ์กำหนดต่ำเกินไป เบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นเงิน 3,000,000 บาทเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 บัญญัติว่า ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินคดีนี้นอกจากค่าเช่าเป็นรายเดือนแล้วจำเลยเรียกค่าตอบแทนการเช่าจากโจทก์ 18,000,000 บาท โจทก์ชำระเงินงวดแรกให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา 1,800,000 บท ที่เหลือ 16,200,000 บาท จะชำระในวันจดทะเบียน หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนการเช่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับริบเงินที่โจทก์ชำระแล้วได้ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องทั้งโจทก์และจำเลยต่างกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็ยอมรับในเบี้ยปรับที่อีกฝ่ายกำหนดไว้ด้วย แม้จำนวนเบี้ยปรับที่โจทก์จะได้รับในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจะสูงกว่าเบี้ยปรับที่จำเลยจะได้รับในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญา แต่จำเลยก็ได้เปรียบโจทก์ในส่วนที่จำเลยได้เงินของโจทก์ไว้แล้วถึง 1,800,000 บาทแต่โจทก์ไม่ได้ทรัพย์สินของจำเลยไว้ นอกจากนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537 จำเลยให้การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทยเช่าที่ดินและสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวเป็นเวลา 17 ปี ได้เงินค่าตอบแทนการเช่าและค่าเช่ารายเดือนเป็นจำนวนสูงกว่าที่โจทก์เสนอให้ซึ่งหากทั้งโจทก์และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไม่เห็นว่าจะมีรายได้จากสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นจำนวนสูงกว่าค่าตอบแทนการเช่าและค่าเช่ารายเดือนที่ต้องจ่ายให้จำเลย พร้อมทั้งดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวในอัตราที่จะได้จากธนาคาร หากนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากธนาคารแล้ว โจทก์และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็คงจะไม่ทำสัญญาเช่ากับจำเลยเป็นแน่ การที่จำเลยผิดสัญญาย่อมทำให้โจทก์ขาดรายได้ดังกล่าวไป แม้คำเบิกความของนายพิศณุพยานโจทก์ถึงจำนวนเงินกำไรที่โจทก์จะได้รับหากมีการเช่าตามสัญญาเป็นเวลา 16 ปี จะเป็นไปอย่างลอย ๆ ไม่ได้แสดงหลักเกณฑ์ในการคำนวณหารายได้ดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ลดจำนวนเงินเบี้ยปรับที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ลงเหลือ3,000,000 บาท อันเป็นจำนวนที่สมควรแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้เพียง 1,800,000 บาทนั้น น้อยเกินไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นรวม 20,000 บาท แทนโจทก์

Share