คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยมิได้กรอกข้อความทั้งมอบหนังสือยินยอมของภริยาซึ่งลงลายมือชื่อของภริยาโดยมิได้กรอกข้อความพร้อมกับสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้ผู้อื่นไปแสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เมื่อมีผู้กรอกข้อความลงในใบมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกจนบุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าโจทก์ได้มอบอำนาจเช่นนั้นจริง โจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่บุคคลภายนอกรับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของผู้รับซื้อฝาก เพราะผู้รับซื้อฝาก ได้รับประโยชน์แห่งข้อสันนิษฐาน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ว่าบุคคลทุกคนกระทำโดยสุจริต เมื่อโจทก์มิได้สืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของผู้รับซื้อฝาก ทั้งผู้รับซื้อฝาก เบิกความยืนยันความสุจริตของตน จึงต้องฟังว่าผู้รับซื้อฝากกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๘,๓๖๐๓ และ ๓๖๐๕ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ กับพวกร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ โดยนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความซึ่งโจทก์ได้มอบไว้แก่นายณรงค์ กุสลานุภาพ เพื่อให้เป็นตัวแทนโจทก์ในการจำนองที่ดินแก่ธนาคารมากรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลง ดังกล่าวแล้วนำไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยองเพื่อให้โอนที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลง ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑และที่ ๒ ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่๓๖๐๓ แก่จำเลยที่ ๒ โดยไม่มีค่าตอบแทน และเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๕ แก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โดยไม่มีค่าตอบแทน ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๘, ๓๖๐๓ และ ๓๖๐๕ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๓ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒และเพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๕ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓และที่ ๔ ให้ที่ดินทั้งสามแปลงกลับมาเป็นของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มอบหนังสือมอบอำนาจให้ไว้แก่นายณรงค์ กุสลานุภาพ นั้นไม่เป็นความจริงโจทก์รู้แล้วว่าจำเลยที่ ๑ โอนที่ดินเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่มิได้โต้แย้งจำเลยที่ ๒รับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๓ จากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเพื่อมอบให้นายณรงค์ กุสลานุภาพ จดทะเบียนจำนองที่ดินแก่ธนาคาร แต่โจทก์มีเจตนามอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ ไม่มีการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังที่โจทก์ฟ้อง โดยโจทก์ร่วมกับผู้มีชื่อกระทำการเพื่อฉ้อฉลบุคคลภายนอก เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ ๓ และที่ ๔รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๘ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับนางวิลัย วงศ์ศรี น้องสะใภ้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๘, ๓๖๐๓และ ๓๖๐๕ โดยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว โจทก์เคยนำที่ดินทั้งสามแปลง จำนองไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาแกลง เพื่อเป็นประกันการกู้เงิน เมื่อไถ่ถอนจำนองแล้ว โจทก์ได้มอบโฉนดที่ดินไว้แก่นางวิลัย ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ นางวิลัยประสงค์จะกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาแกลงอีก จึงได้ติดต่อและได้รับคำแนะนำจากนายณรงค์ กุสลานุภาพ พนักงานสินเชื่อของธนาคารให้นำที่ดินดังกล่าวมาจำนองไว้เป็นประกันเงินกู้ โจทก์จึงได้มอบหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีแต่ลายมือชื่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๔ และหนังสือให้ความยินยอมของภริยาซึ่งยังมิได้กรอกข้อความให้นางวิลัยไปพร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อนำไปให้นายณรงค์จดทะเบียนจำนอง ต่อมาได้มีการปลอมใบมอบอำนาจโดยเติมข้อความเป็นว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ ๑ มีการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสามแปลงเป็นของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๔ ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมายจ.๗ และต่อมาวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๓ แก่จำเลยที่ ๒ ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมายจ.๘ และวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่๓๖๐๕ แก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.๙ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๘ จำเลยที่ ๑ ได้นำไปค้ำประกันเงินกู้นางสาลี่ นึกสม ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายณรงค์ นายบันเทิง ชูติปัญญะบุตร และจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมต่อศาลชั้นต้นปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ในคดีนี้หลบหนีในระหว่างพิจารณา ศาลออกหมายจับและมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับนายณรงค์และนายบันเทิง แต่ฟังข้อเท็จจริงว่ามีการปลอมใบมอบอำนาจของโจทก์จริง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๓ และ ๓๖๐๕ ของจำเลยที่ ๒ และของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมการโอนได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๔ โดยมิได้กรอกข้อความ ทั้งมอบหนังสือยินยอมของภริยาซึ่งลงลายมือชื่อของภริยาโดยมิได้กรอกข้อความพร้อมกับสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้ผู้อื่นไปแสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์เมื่อมีผู้กรอกข้อความลงในใบมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกจนบุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าโจทก์ได้มอบอำนาจเช่นนั้นจริงโจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่บุคคลภายนอกรับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๒๒ ประกอบมาตรา ๘๒๑ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เพราะจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้รับประโยชน์แห่งข้อสันนิษฐาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖ ว่าบุคคลทุกคนกระทำโดยสุจริต ซึ่งในเรื่องนี้ตัวโจทก์เองมิได้เบิกความให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ไม่สุจริตอย่างไร แม้ต่อมาจะมีการนำเรื่องนี้ไปฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ด้วย คงฟ้องจำเลยที่ ๑คดีนี้กับบุคคลอื่นคือนายณรงค์และนายบรรเทิงเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าโจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่มีส่วนร่วมในการปลอมใบมอบอำนาจหรือใช้ใบมอบอำนาจปลอมสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า นางวิลัยพยานโจทก์เป็นผู้นำใบมอบอำนาจและโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับไปมอบให้แก่นายณรงค์เพื่อขอกู้เงินจากธนาคารนั้น นางวิลัยคงเบิกความถึงแต่เฉพาะนายณรงค์และนายบรรเทิงจำเลยในคดีอาญาเท่านั้น รวมทั้งพยานโจทก์ปากอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนายสมนึก รัตนวิจิตร นางมานพ สุภาพ หรือนายรุ่งโรจน์ตรงชื่น มิได้เบิกความพาดพิงถึงจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ แต่ประการใด ฝ่ายจำเลยที่ ๒ถึงที่ ๔ นำสืบว่า นาวาตรีสถาพร อยู่สุข ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ ๑ มาติดต่อขายฝากที่ดิน จำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๓ ให้จำเลยที่ ๒ ในราคา๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ได้ชำระเป็นเงินสดจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ บาท และแคชเชียร์เช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาพัทยา และของธนาคารศรีนคร จำกัดสาขาสัตหีบ ตามเอกสารหมาย ล.๓ และ ล.๖ ตามลำดับ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๕จำเลยที่ ๑ ขายฝากให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในราคา ๗๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓และที่ ๔ ได้ชำระเป็นเงินสดและแคชเชียร์เช็ค ตามสำเนาเช็คและสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ ๓๐๒-๒-๐๖๖๐๘-๒ ของจ่าเอกปราโมทย์ พรายนรินทร์ เอกสารหมายล.๔ ล.๑๑ และ ล.๑๒ เมื่อโจทก์มิได้สืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒ถึงที่ ๔ ทั้งจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เบิกความยืนยันความสุจริตของตน จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๓ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๕ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓และที่ ๔ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่าโจทก์ไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๓ และ ๓๖๐๕ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share