คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8840/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และคำขอท้ายฟ้องระบุให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เท่ากับโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวนั้น เป็นผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 และ 1087

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 918,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า เช็คทั้งเจ็ดฉบับตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายล่วงหน้า เพื่อเป็นการชำระค่าเช่าซื้อรถขุดไฮดรอลิกแก่โจทก์ หลังทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยทั้งสองไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อต่อไปได้จึงแจ้งให้โจทก์มารับรถขุดไฮดรอลิกคืนไป ต่อมาโจทก์ได้รับรถคืนไปแล้ว สัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองได้ขอยกเลิกเช็คทั้งเจ็ดฉบับดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหนี้ต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คจำนวน 918,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างใดกับโจทก์จึงต้องรับผิดตามเช็ค การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวด้วย เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือจากคำฟ้องจึงไม่ชอบนั้นเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และตามคำขอท้ายฟ้องระบุให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จึงเท่ากับโจทก์ได้มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดแล้ว ส่วนจะรับผิดตามบทกฎหมายใดเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกบทกฎหมายขึ้นปรับเมื่อบรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวนั้นอันเป็นผลตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077และ 1087 ซึ่งวางหลักว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นมีผู้ถือหุ้นอยู่ 2 จำพวก จำพวกหนึ่งได้แก่พวกจำกัดความรับผิดคือรับผิดเฉพาะเท่าที่ตนรับจะลงหุ้นเท่านั้น และอีกจำพวกหนึ่งได้แก่จำพวกไม่จำกัดความรับผิดคือต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน และผู้ที่จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ก็แต่เฉพาะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วย จึงมิใช่วินิจฉัยนอกฟ้องแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share