คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 884/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต่างแย่งกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือเกือบเหมือนกัน แม้จำเลยจะได้ถูกนายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนตามบทกฎหมายก็ถือได้เพียงว่า จำเลยมิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามนิตินัยต่อไปเท่านั้น แต่เมื่อจำเลยยังคงใช้เครื่องหมายการค้านั้นอยู่ จำเลยจึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยพฤตินัย เมื่อทั้งโจทก์และจำเลยต่างใช้และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยพฤตินัยมาด้วยกัน แต่จำเลยใช้มาก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า เครื่องหมายการค้าที่ไม่ต่ออายุการจดทะเบียนจนนายทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าเสียจากทะเบียนนั้น ทำให้ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเท่านั้น แต่สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่จดทะเบียนยังคงมีอยู่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษา โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่า โจทก์ และโจทก์ในสำนวนหลังซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลย
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์ได้ผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้ารูป “มด” ออกจำหน่ายและได้ยื่นคำร้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2528 ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2528 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “มด” แต่เนื่องจากเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันและมีเครื่องหมายการค้าเป็นรูปมด ซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือเกือบเหมือนกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการถอนคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ แต่จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้นายทะเบียน เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “มด” ในสินค้าจำพวกที่ 1ทั้งจำพวกให้แก่โจทก์ ให้จำเลยดำเนินการถอนคำขอจดทะเบียน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “มด” ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 อายุการจดทะเบียนสิ้นสุดในเดือนเมษายน2526 จำเลยไม่ได้ดำเนินการต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย แต่จำเลยก็ยังคงใช้เครื่องหมายการค้ารูป “มด”กับสินค้าของจำเลยมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ารูป “มด” ดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2528 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “มด” ต่อมานายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย นายทะเบียนจึงไม่รับจดให้ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ารูป “มด”ดีกว่าจำเลย เนื่องจากโจทก์ได้ใช้กับสินค้าของโจทก์และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 และนายทะเบียนได้เคยรับจดทะเบียนไว้ โจทก์ก็ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจนปัจจุบัน โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยไปดำเนินการเพิกถอนแล้วแต่จำเลยก็เพิกเฉย การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งเหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิด คิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ ขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “มด” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2528 ส่วนโจทก์ได้ยื่นเมื่อวันที่4 กันยายน 2528 โจทก์จึงยื่นคำขอจดทะเบียนภายหลังจากการยื่นคำขอจดทะเบียนของจำเลย แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดมาตั้งแต่พ.ศ. 2516 และจดทะเบียน แต่นายทะเบียนก็ได้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2526 แล้ว โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภายในสิบสองเดือนนับตั้งแต่วันถูกเพิกถอน ตามมาตรา 38แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 การเพิกถอนจึงสมบูรณ์โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูป “มด” ดังกล่าว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดว่าโจทก์เสียหายอย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ (ก) 149376 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2528ตามเอกสารหมาย จ.2 หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโจทก์ และยกฟ้องของจำเลยในคำขอเกี่ยวกับความเสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ได้แย่งกันจดทะเบียนต่างเป็นรูปมดใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก สินค้าของโจทก์เป็นประเภทกาวลาเท็กซ์ของจำเลยเป็นประเภทเคมีภัณฑ์ เช่น ผงทอง สีและกาวลาเท็กซ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.5 ตามลำดับ ซึ่งมีลักษณะเกือบเหมือนกัน จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของจำเลยมาแต่ พ.ศ. 2515 และได้นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เมื่อ พ.ศ. 2516 ครบกำหนดสิบปีแล้วจำเลยไม่ต่ออายุของการจดทะเบียนจนนายทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้านั้นเสียจากทะเบียนเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2526และภายในกำหนดสิบสองเดือนนับแต่วันเพิกถอนจำเลยมิได้มีการขอต่ออายุการจดทะเบียนขึ้นมา ในระหว่างที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ายังไม่ถูกเพิกถอนกับสินค้าจำเลยอยู่นั้น โจทก์ก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดกับสินค้าของโจทก์ กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. 2519 โจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้ากาวลาเท็กซ์ ภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปมดแดงโดยคิดประดิษฐ์รูปมดขึ้นเองเพราะโจทก์เคยศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าบางมด ครั้นต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2528โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ (ก) 149376 ส่วนจำเลยก็ยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2528 ตามคำขอเลขที่(ก) 149965 นายทะเบียนไม่ยอมจดทะเบียนเพราะเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีลักษณะเหมือนหรือเกือบเหมือนกัน ให้โจทก์จำเลยไปทำความตกลงกันหรือนำคดีมาสู่ศาล โจทก์และจำเลยจึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้ ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า โจทก์หรือจำเลยจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปมดพิพาทดีกว่ากัน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 27 บัญญัติไว้ความว่าบุคคลผู้ใดได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ท่านให้ถือเป็นเจ้าของ มีสิทธิผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ มาตรา 29 วรรคแรก บัญญัติความว่า ผู้ใดจะนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้ มาตรา 35 บัญญัติไว้ความว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ท่านว่าสมบูรณ์เพียงสิบปีแต่จะต่ออายุตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ และมาตรา 36, 37และมาตรา 38 ว่าด้วยการต่ออายุและการเพิกถอนการจดทะเบียน ตามกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ เพื่อคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียน กล่าวคือ บุคคลผู้ที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นกฎหมายถือว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิใช้ หากมีผู้ใดนำไปใช้โดยมีชอบก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายได้ สำหรับกรณีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างแย่งกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือเกือบเหมือนกัน แม้จำเลยจะได้ถูกนายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียน ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวถือได้เพียงว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามนิตินัยต่อไปเท่านั้นแต่ก็ได้ความว่า จำเลยยังใช้เครื่องหมายการค้านั้นอยู่ จำเลยยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยพฤตินัย เมื่อทั้งโจทก์และจำเลยต่างใช้และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยพฤตินัยมาด้วยกันแต่จำเลยใช้มาก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า หากให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเพราะไม่ต่ออายุยังคงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นต่อไปก็จะทำให้อายุการจดทะเบียนการต่ออายุและการเพิกถอนการจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไร้ประโยชน์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่ไม่ต่ออายุการจดทะเบียนจนนายทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าเสียจากทะเบียนนั้น ทำให้ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเท่านั้น แต่สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่จดทะเบียนยังคงมีอยู่ อีกทั้งหากมีการแสดงเครื่องหมายการค้าที่มิได้จดทะเบียนว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนหรือขายหรือเสนอขายสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นเท็จย่อมมีความผิดและอาจได้รับโทษตาม มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ได้ ดังนั้น การที่กฎหมายกำหนดเรื่องอายุการจดทะเบียน การต่ออายุและการจดทะเบียนไว้หาได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียวดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปมดพิพาทดีกว่าโจทก์และไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share