คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ห. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลย และได้ทำนิติกรรมโอนทรัพย์เหล่านั้นให้จำเลยด้วย ถ้านิติกรรมการโอนสมบูรณ์ข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมเป็นอันเพิกถอน จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นตามพินัยกรรมแต่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามนิติกรรมนั้น ถ้านิติกรรมการโอนไม่สมบูรณ์ข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมไม่ถูกเพิกถอน จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามนิติกรรมนั้น แต่ก็ได้กรรมสิทธิ์ตามพินัยกรรม ดังนั้นไม่ว่านิติกรรมโอนทรัพย์สินให้จำเลยจะเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เหล่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดก ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามที่คู่ความรับกัน และตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งโจทก์จำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านว่านางหอม ทองแดง ซึ่งเป็นมารดาโจทก์จำเลยได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 24ตุลาคม 2509 ยกที่ดินโฉนดที่ 2733 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินโฉนดที่1968, 2236, 2238 และ 2759 ซึ่งต่อมาได้รับโฉนดฉบับใหม่ที่ 10207ให้จำเลย นางหอม ทองแดง ถูกศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ให้อยู่ในความพิทักษ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2510ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 305/2510 นางหอม ทองแดง จดทะเบียนโอนทรัพย์ตามพินัยกรรมให้จำเลย โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2509 ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 5 แปลงนั้นร่วมกับนางหอม ทองแดง คนละครึ่ง วันที่ 28 พฤษภาคม 2512 ยกที่ดินโฉนดที่ 1968, 2236, 2238, และ 2733 อีกครึ่งหนึ่งที่นางหอม ทองแดง เป็นเจ้าของอยู่ให้จำเลย และวันที่ 4 สิงหาคม2512 ยกที่ดินโฉนดที่ 10207 อีกครั้งหนึ่ง ที่นางหอม ทองแดง เป็นเจ้าของอยู่ให้จำเลย นางหอม ทองแดง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2519 มีปัญหาว่าจำเลยจะต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อให้เอาไปแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นทายาทหรือไม่

โจทก์ฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมถูกเพิกถอนแล้ว เพราะนางหอมทองแดง โอนทรัพย์เหล่านั้นให้จำเลย และนิติกรรมโอนทรัพย์ให้จำเลยนั้นเป็นโมฆะเพราะนางหอม ทองแดง ทำโดยถูกหลอกลวงและมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ และถูกบอกล้างภายหลังจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เหล่านั้น ต้องนำไปแบ่งกันระหว่างทายาท

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การโอนไปซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม อันจะเป็นเหตุให้ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอันเพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 นั้น ต้องเป็นการโอนไปโดยสมบูรณ์ มิฉะนั้นข้อกำหนดนั้นย่อมไม่ถูกเพิกถอนและมีผลบังคับ คดีนี้นางหอม ทองแดง ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลย และได้ทำนิติกรรมโอนทรัพย์เหล่านั้นให้จำเลยด้วย เห็นว่าถ้านิติกรรมการโอนสมบูรณ์ข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมเป็นอันเพิกถอน จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นตามพินัยกรรม แต่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามนิติกรรมนั้น ถ้านิติกรรมการโอนไม่สมบูรณ์ข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมไม่ถูกเพิกถอน จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามนิติกรรมนั้นแต่ก็ได้กรรมสิทธิ์ตามพินัยกรรม ดังนั้นไม่ว่านิติกรรมโอนทรัพย์สินให้จำเลยจะเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เหล่านั้น จำเลยไม่ต้องคืนทรัพย์สินเพื่อให้นำมาแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลย คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่านิติกรรมโอนทรัพย์ให้จำเลยเป็นโมฆะหรือไม่”

พิพากษายืน

Share