คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลงชื่อในใบเบิกเงินสำรองล่วงหน้าให้โจทก์ไปรับเงินค่าโฆษณาภาพยนตร์ในเดือนมีนาคม 2510 โดยมิได้ลงวันที่หมายความว่าโจทก์จะนำใบเบิกดังกล่าวไปเบิกเงินในวันใดภายในเดือนมีนาคม 2510. แม้จะเป็นวันสุดท้ายของเดือนก็ได้ ดังนี้กำหนดเวลาสิ้นสุดที่จะเบิกเงินจึงถือเอาวันสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2510
การที่จำเลยลงชื่อในใบเบิกเงินสำรองมอบให้โจทก์ไปรับเงินค่าโฆษณาเท่ากับจำเลยยอมชำระค่าจ้างตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ถือได้ว่าอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172,181 และเริ่มนับอายุความ 2 ปี ตาม มาตรา 165(7) ใหม่ตั้งแต่วันสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2510 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดที่จะเบิกเงินตามใบเบิกเงินสำรองนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาภาพยนตร์โจทก์ทำการโฆษณาตามที่ตกลงกับจำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยได้เซ็นใบเบิกเงินสำรองล่วงหน้าให้แก่โจทก์เมื่อเดือนมีนาคม 2510 เพื่อให้โจทก์ไปขอรับเงินจากบริษัทวัชรภาพยนต์ จำกัด เป็นการชำระหนี้ค่าโฆษณาภาพยนตร์ดังกล่าว แต่บริษัทวัชรภาพยนตร์ปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ทวงถาม จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้อำนวยการสร้างและเจ้าของภาพยนตร์ ดังกล่าว ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาภาพยนตร์ ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นของบริษัทวัชรภาพยนตร์ จำกัด และบริษัทนั้นเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณา การที่บริษัทวัชรภาพยนตร์ จำกัด ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาจากบริษัทวัชรภาพยนตร์ จำกัด โจทก์ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลย จำเลยไม่เคยได้รับการทวงถามและคดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยต้องรับผิดค่าว่าจ้างโฆษณาภาพยนตร์ตามฟ้องคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาภาพยนตร์รายนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างแก่โจทก์ส่วนประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าจำเลยลงชื่อในใบเบิกเงินสำรองล่วงหน้าให้โจทก์ไปรับเงินค่าโฆษณาภาพยนตร์รายนี้จากบริษัทวัชรภาพยนตร์ จำกัด ก่อนเดือนมีนาคม 2510 แต่ลงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2510 ไว้ โดยมิได้ลงวันที่ซึ่งหมายความว่าโจทก์จะทำใบเบิกดังกล่าว ไปเบิกเงินในวันใดภายในเดือน มีนาคม แล้วนั้น วันสุดท้ายของเดือนคือวันที่ 31 ก็ได้ ดังนี้ กำหนดเวลาสิ้นสุดที่จะเบิกเงินจึงถือเอาวันสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2510 แม้โจทก์จะได้นำใบเบิกสำรองไปเบิกเงินครั้งหนึ่งแล้ว ในเดือนมีนาคม 2510 แต่สิทธิของโจทก์ยังมีอยู่จนถึงวันสุดท้ายของเดือนมีนาคมนั้น การที่จำเลยลงชื่อในใบเบิกเงินสำรองมอบให้โจทก์ไปรับเงินค่าโฆษณานั้นเท่ากับจำเลยยอมชำระค่าจ้างตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ถือได้ว่าอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172, 181 และเริ่มนับอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165(7) ใหม่ ตั้งแต่วันสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2510 มิใช่นับแต่วันที่การโฆษณาเสร็จสิ้นลง คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share