คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3118/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เพื่อดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้จัดการสำรวจป่าไม้หรือที่สงวนหวงห้ามซึ่งมีราษฎรบุกรุกเข้าไปทำกิน แล้วพิจารณาว่าที่แห่งใดสมควรถอนการสงวนให้ราษฎรทำกินต่อไป ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ใดถอนการสงวนไม่ได้ ควรผ่อนผันให้ราษฎรทำกินต่อไปโดยวิธีการเช่า หรือตามระเบียบที่จะควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย และถ้าจำเป็นจะต้องให้ราษฎรที่บุกรุกออกจากที่สงวนนั้น ก็ให้นิคมสร้างตนเองรับเป็นสมาชิกผู้ว่าราชการจังหวัดจึงออกประกาศให้ผู้อ้างสิทธิว่าเป็นเจ้าของที่ดินในที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่สงวนหวงห้าม”เหล่าหนองโน”ไปยื่นคำร้องขอพิสูจน์สิทธิต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2513จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดิน”เหล่าหนองโน” อยู่ก่อนแล้ว เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด ออกประกาศดังกล่าว ทำให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่านับตั้งแต่วันที่ 28กรกฎาคม 2513 เป็นต้นไป จำเลยครอบครองที่ดินตามฟ้องโดยชอบโดยทางราชการผ่อนผันให้ครอบครองไปจนกว่าทางราชการจะพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นจะต้องให้จำเลยออกจากที่ดินและแจ้งให้ออกแล้ว ดังนั้นแม้ต่อมานายอำเภอได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินนั้น โดยอ้างว่าการที่จำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สาธารณชน จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ออกไป ก็ไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งของนายอำเภอ การกระทำของจำเลยตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นมา จึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 และประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 แต่การบังอาจยึดถือที่ดินนี้ตั้งแต่ก่อนวันที่28 กรกฎาคม 2513 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 108 และมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) โจทก์ฟ้องเมื่อเกิน 1 ปีแล้วจึงลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๙ ถึงวันที่ ๒๖มีนาคม ๒๕๑๔ จำเลยซึ่งมิได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินของรัฐได้บังอาจยึดถือครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ “เหล่าหนองโน”อันเป็นที่ดินของรัฐสงวนไว้เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์สำหรับราษฎรใช้ร่วมกันอยู่ในความดูแลของนายอำเภอเมืองหนองคายโดยจำเลยเข้าไปทำประโยชน์ล้อมรั้วกั้นเอาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเสีย ๑๒ ไร่ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานนายอำเภอเมืองหนองคายสั่งให้จำเลยออกไป จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ยอมออก ซึ่งจำเลยทราบแล้วว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทั้งนี้โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙(๑), ๑๐๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘
จำเลยให้การรับว่า ได้บุกรุกที่ดินตามฟ้องจริง โดยจำเลยเข้าทำประโยชน์มาประมาณ ๖ ปีแล้ว และมีราษฎรเข้าทำประโยชน์ประมาณ ๒๐๐ รายทางราชการได้ประกาศให้ราษฎรผู้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวไปยื่นคำร้องขอพิสูจน์สิทธิต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน ๑๕ วัน จำเลยได้ไปยื่นคำร้องไว้แล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ไปรังวัดสอบสวนสิทธิให้จำเลย ซึ่งเท่ากับพนักงานเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยปริยายการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙ ข้อ ๑ และมาตรา ๑๐๘ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ซึ่งเป็นกระทงหนักปรับ ๕๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ “เหล่าหนองโน” ซึ่งทางราชการสงวนไว้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์สำหรับราษฎรใช้ร่วมกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้ประกาศว่ากระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการเร่งรัดจัดที่ดินให้ราษฎรผู้ไม่มีที่ทำกินและบุกรุกเข้าไปทำกินในที่สงวนหวงห้ามขึ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วจึงประกาศให้ผู้อ้างสิทธิว่าเป็นเจ้าของที่ดินหวงห้าม “เหล่าหนองโน” ไปยื่นคำร้องขอพิสูจน์สิทธิต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ เป็นต้นไปจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สิทธิภายในกำหนด และนำผู้ปกครองท้องที่รังวัดสอบสวนสิทธิในที่ดินที่จำเลยยื่นคำร้องแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๔และเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๔ นายอำเภอเมืองหนองคายได้มีหนังสือแจ้งมาว่าให้จำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าว จำเลยทราบคำสั่งแล้วแต่ไม่ออกไปนายอำเภอเมืองหนองคายจึงดำเนินคดีนี้แก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายออกประกาศให้ผู้อ้างสิทธิว่าเป็นเจ้าของที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่สงวนหวงห้าม “เหล่าหนองโน” ไปยื่นคำร้องขอพิสูจน์สิทธิต่อนายอำเภอท้องที่ ก็เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้จัดการสำรวจที่ป่าไม้ หรือที่สงวนหวงห้ามซึ่งมีราษฎรบุกรุกเข้าไปทำกินแล้วพิจารณาว่าที่แห่งใดสมควรถอนการสงวนให้ราษฎรทำกินต่อไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ใดถอนการสงวนไม่ได้ควรผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่ทำกินต่อไปโดยวิธีการเช่า หรือตามระเบียบที่จะควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายและถ้าจำเป็นจะต้องให้ราษฎรที่บุกรุกออกจากที่สงวนนั้น ก็ให้นิคมสร้างตนเองรับเป็นสมาชิกเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายออกประกาศนั้นแล้ว ทำให้จำเลยและราษฎรที่ยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวเข้าใจโดยสุจริตว่านับตั้งแต่วันที่ ๒๘กรกฎาคม ๒๕๑๓ เป็นต้นไป ตนครอบครองที่ดินตามฟ้องโดยชอบโดยทางราชการผ่อนผันให้ครอบครองไปจนกว่าทางราชการจะพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเป็นจะต้องให้ตนออกจากที่ดินและแจ้งให้ออกแล้ว ดังนั้นแม้ต่อมานายอำเภอเมืองหนองคายได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินนั้นโดยอ้างว่า การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สาธารณชน จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ออกไปก็ไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งของนายอำเภอเมืองหนองคายการกระทำของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ เป็นต้นมา จึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา การกระทำของจำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ เฉพาะการบังอาจยึดถือที่ดินตามฟ้องตั้งแต่ก่อนวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ซึ่งให้ลงโทษตามมาตรา ๑๐๘ และมีอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕(๕) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน ๑ ปีแล้ว จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์

Share