คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการที่จะพิจารณาว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) หรือไม่ ต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งเช่นสมุดลงชื่อเวลาทำงานของลูกจ้าง บัตรตอกเวลาทำงานของลูกจ้าง เป็นต้น ทั้งต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีเพราะหลังจากลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วลูกจ้างก็ไม่อาจหาหลักฐานสำคัญซึ่งอยู่ในที่ทำงานมาแสดงต่อศาลแรงงานได้ ไม่อาจขอความช่วยเหลือลูกจ้างด้วยกันมาเป็นพยานบุคคลได้ โจทก์ถูกยกฟ้องแล้วยังต้องชดใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 อีก จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น โจทก์ประสงค์จะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 9 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำสั่งรับฟ้องแย้งของศาลแรงงานภาค 9 ไม่ใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานภาค 9 ไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
การที่โจทก์จะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ โจทก์จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้เพื่อศาลแรงงานภาค 9 จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานภาค 9 จะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้นเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง โจทก์มิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานภาค 9 ที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานภาค 9 พิจารณาพิพากษาคดีในปัญหาดังกล่าวแล้ว โจทก์เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาพิพากษาแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2542 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการลอจิสติคและเทคนิค ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 134,136 บาท ค่าครองชีพ 16,000 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 150,136 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 25 ของทุกเดือน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า กล่าวหาว่าโจทก์ขาดงานโดยไม่มีมูลเหตุอันสมควรซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวน 180 วัน เป็นเงิน 900,816 บาท ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เป็นเงิน 150,136 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 230 วัน เป็นเงิน 85,146 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 9,008,160 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,144,258 บาท และจำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินค่าจ้างที่โจทก์พึงได้รับใน 2 ปีข้างหน้าเป็นเงินจำนวน 3,603,264 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 10,144,258 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย 3,603,264 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2547 รวม 21 วัน และโจทก์ยังขาดงานตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2547 รวม 18 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว การขาดงานของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่ทำงานให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ซึ่งได้แก่ เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 145,000 บาท ค่าเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เดือนละ 2,000 บาท เงินสะสมที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระสมทบให้แก่โจทก์เดือนละ 4,240 บาท รวมเป็นค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์เดือนละ 151,240 บาท โจทก์ขาดงานโดยเฉลี่ยเดือนละ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเวลาทำงานปกติ คิดเป็นเงินเดือนละ 75,620 บาท โจทก์ขาดงานเช่นนี้เป็นเวลา 22 เดือน ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 1,663,540 บาท จำเลยที่ 1 ต้องให้นายอีริค แฮมลิ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 จ้างมาทำในตำแหน่งอื่นทำงานแทนโจทก์เป็นเวลาครึ่งหนึ่งของช่วงเวลา 22 เดือนก่อนการเลิกจ้าง คิดเป็นค่าจ้าง 2,310,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องสูญเสียชื่อเสียงขาดความเชื่อถือและขาดประโยชน์ในทางธุรกิจจากลูกค้า เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่ติดต่อธุรกิจกับลูกค้า จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่เพราะขาดงานเป็นอาจิณ เป็นเหตุให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 8,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องจ้างทนายความในการต่อสู้คดีและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นเงิน 400,000 บาท โจทก์ละเลยต่อหน้าที่ทำให้ใบอนุญาตขอทิ้งดินระเบิดที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 หมดอายุไปจำนวน 1,589 หน่วย และต้องทำลายทิ้งไปโดยไม่สามารถนำไปใช้งานได้คิดเป็นเงิน 550,000 บาท รวมค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 12,923,640 บาท โจทก์เบิกเงินล่วงหน้าแล้วไม่ชำระคืนและการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการจ่ายโบนัสและปรับเงินเดือนในอนาคต ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 5,102,727 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงิน 12,923,640 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 กับให้โจทก์ชำระเงิน 5,102,727 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ละทิ้งหน้าที่การงานตามฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไม่พอใจโจทก์ที่โจทก์รู้ถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีผลประโยชน์ขัดกันกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือจึงกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์และนำบุคคลอื่นมาทำงานแทนโจทก์ ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งปราศจากเหตุผลและไม่เป็นความจริง โจทก์จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการเดินทางจำนวน 400,000 บาทจากโจทก์ เพราะการยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในศาลแรงงานได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียม การจ้างทนายความให้ว่าความเป็นความสมัครใจของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ขอถอนฟ้องแย้ง ศาลแรงงานภาค 9 อนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง (วันที่ 28 มกราคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2542 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 150,136 บาท จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และโจทก์ละทิ้งหน้าที่เกิน 3 วัน ติดต่อกันในช่วงระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2547 และตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ละเลยต่อหน้าที่ไม่ไปต่อใบอนุญาตให้มีใช้วัตถุระเบิด การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ทำให้ใบอนุญาตขาดอายุ จำเลยที่ 1 ต้องทำลายวัตถุระเบิดไปคิดค่าเสียหาย 500,000 บาท โจทก์นำเรื่องไม่เป็นความจริงมาฟ้องจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าทนายความ เป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 500,000 บาท สำหรับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเกี่ยวกับค่าจ้างที่โจทก์ทำงานให้ไม่คุ้มค่าจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไปแล้ว จึงไม่อาจฟ้องเรียกกลับคืนมาได้
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า การที่จะพิจารณาว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) หรือไม่ ต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งเช่นสมุดลงชื่อเวลาทำงานของลูกจ้าง บัตรตอกเวลาทำงานของลูกจ้างเป็นต้น ทั้งต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีเพราะหลังจากลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วลูกจ้างก็ไม่อาจหาหลักฐานสำคัญซึ่งอยู่ในที่ทำงานมาแสดงต่อศาลแรงงานได้ ไม่อาจขอความช่วยเหลือลูกจ้างด้วยกันมาเป็นพยานบุคคลได้ โจทก์ถูกยกฟ้องแล้วยังต้องชดใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 อีก จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ประสงค์จะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 9 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) มิได้กล่าวหาว่าโจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามมาตรา 119 (2) หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามมาตรา 119 (3) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในฟ้องแย้งเพราะไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์นั้น เห็นว่า คำสั่งรับฟ้องแย้งของศาลแรงงานภาค 9 เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคดีที่เสนอคำฟ้องนั้นและไม่ใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 และมาตรา 228 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานภาค 9 ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียม ค่าฤชาธรรมเนียมรวมถึงค่าทนายความด้วย ทั้งโจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้ว จึงมิใช่การละเมิดที่สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานและมิใช่การละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ศาลแรงงานภาค 9 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องนี้ ทั้งการพิจารณาให้โจทก์ชดใช้ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายถึง 500,000 บาท เกินคำขอของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยนั้น เห็นว่า การที่โจทก์จะขอยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ โจทก์จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้เพื่อศาลแรงงานภาค 9 จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานภาค 9 จะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้นเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง คดีนี้โจทก์มิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานภาค 9 ที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานภาค 9 พิจารณาพิพากษาคดีในปัญหาดังกล่าวแล้ว โจทก์เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาพิพากษานี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายถึง 500,000 บาท เกินคำขอของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบนั้น คดีนี้จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความเสียหายที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเอาจากโจทก์จึงต้องเป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ดังกล่าว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีรวมทั้งค่าทนายความที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งอ้างว่าจำเลยที่ 1 เสียไปในคดีนี้มิใช่ค่าเสียหายอันเป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 9 กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าใช้จ่ายและทนายความเป็นเงิน 500,000 บาท มาในคดีนี้ด้วยจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9.

Share