แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้แต่งตั้ง ส. เป็นทนายความของโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งในศาลแรงงานกลางและใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ซึ่ง ส. ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของโจทก์มาตลอดจนกระทั่งศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยชอบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นเวลาหลังจากสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว 3 วัน ส. ได้ยื่นคำแถลงขอคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาโดยมีการรับรองสำเนาถูกต้อง และโจทก์ก็ได้รับเอกสารไปแล้วในวันนั้น โจทก์มีทนายความที่จะดำเนินคดีแทนโจทก์มาตลอด แต่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายหลังจากสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วเกือบสองเดือน ทั้งที่ทนายโจทก์มีโอกาสที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ก่อนหน้านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ต้องกลับไปภูมิลำเนาโจทก์ที่จังหวัดขอนแก่นแล้วเกิดพายุและภัยธรรมชาติทั้งโรคประจำตัวโจทก์ได้กำเริบขึ้น จึงหาใช่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 1/2546 ลงวันที่ 14 มกราคม 2546 ของจำเลยที่ 1 และบังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 49,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลางภายใน 15 วัน นับแต่วันยื่นคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุจำเป็นที่จะขยายระยะเวลา จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ตามคำร้องของโจทก์กรณีมีเหตุจำเป็นที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้แต่งตั้งนายสมพรเป็นทนายความของโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งในศาลแรงงานกลางและใช้สิทธิในการอุทธรณ์ตามใบแต่งทนายความ ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2546 ซึ่งนายสมพรได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของโจทก์มาตลอดจนกระทั่งศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยชอบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นเวลาหลังจากสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว 3 วัน นายสมพรได้ยื่นคำแถลงขอคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาโดยมีการรับรองสำเนาถูกต้อง และโจทก์ก็ได้รับเอกสารไปแล้วในวันนั้น โจทก์มีทนายความที่จะดำเนินคดีแทนโจทก์มาตลอด แต่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายหลังจากสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วเกือบสองเดือน ทั้งที่ทนายโจทก์มีโอกาสที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ก่อนหน้านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ต้องกลับไปภูมิลำเนาโจทก์ที่จังหวัดขอนแก่นแล้วเกิดพายุและภัยธรรมชาติทั้งโรคประจำตัวโจทก์ก็ได้กำเริบขึ้น จึงหาใช่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ไม่ คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.