แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะ ร. เป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 1 ซึ่งเป็นผู้สอบสวนประจักษ์พยานโจทก์ทั้งหมด แต่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 3 นั้น เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในเขตอำนาจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ที่ ร. ประจำอยู่ ร. จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นระเบียบซึ่งกำหนดวิธีการบริหารภายในของราชการตำรวจ มิได้ทำให้อำนาจการสอบสวนที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงให้ลงโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว ริบปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงสิบเอกวินัย ผู้ตายที่ 1 และสิบโทอภิสิทธิ์ ผู้ตายที่ 2 โดยมีเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกอวัยวะสำคัญหลายแห่งของผู้ตายทั้งสอง เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ นายธงชัยให้การต่อพนักงานสอบสวน หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน นายธงชัยยืนยันว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสอง นายธงชัยรู้จักจำเลยมาก่อน โดยเคยร่วมดื่มสุรากับจำเลย 2 ถึง 3 ครั้ง ทั้งยังทราบว่าจำเลยทำงานอยู่ในบริษัทเซาท์เทิร์นสตีล จำกัด ขณะเกิดเหตุไม่มีสิ่งใดปิดบังใบหน้าจำเลย ถึงแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนแต่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าทั้งภายในบริเวณร้านที่เกิดเหตุและจากเสาไฟฟ้าริมถนนส่องสว่างทำให้มองเห็นภายในบริเวณที่เกิดเหตุได้ชัดเจน และถึงแม้นายธงชัยมีอาการเมาสุรา แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วนายธงชัยสามารถขับรถยนต์ไปส่งนายประทีปได้ ย่อมแสดงว่านายธงชัยมีสติตามสมควรเพียงพอที่จะมองเห็น สังเกตและจดจำได้ นอกจากนั้นหลังจากที่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไป ต่อมาอีกเพียง 2 วัน นายธงชัยก็ยังให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนว่า ภาพถ่ายของจำเลยที่พนักงานสอบสวนให้ดูเป็นภาพถ่ายคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสอง ความข้อนี้นายธงชัยได้เบิกความในชั้นพิจารณาว่า นายธงชัย เขียนข้อความด้วยตนเองและลงลายมือชื่อไว้ในภาพถ่ายของจำเลยว่า ข้าฯขอยืนยันว่าบุคคลในสำเนาภาพถ่ายนี้เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงนายวินัย และนายอภิสิทธิ์ ที่ร้านเจ๊วิมคาราโอเกะถึงแก่ความตายจริง การที่นายธงชัยให้การต่อพนักงานสอบสวนภายใน 1 วัน หรือ 3 วัน หลังจากเกิดเหตุเป็นการให้การเกือบจะในทันที ภาพเหตุการณ์ยังปรากฏในความทรงจำชัดเจนต่อเนื่องเป็นลำดับ มีรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก คำให้การมีเหตุผลมีลักษณะเป็นกลางยังไม่มีปัจจัยภายนอกแทรกซ้อนกดดันให้ต้องใคร่ครวญปรับแต่งคำให้การให้ผิดเพี้ยนไปจากความรู้เห็นเหตุการณ์จริง ไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าเป็นการใส่ร้ายปรักปรำจำเลยแต่ประการใด น่าเชื่อว่าเป็นการให้การไปตรงตามความเป็นจริงตามที่นายธงชัยรู้เห็นด้วยตนเอง เมื่อรับฟังอย่างระมัดระวังตามเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวแล้ว คำให้การชั้นสอบสวนของนายธงชัยมีความน่าเชื่อถือยิ่งกว่าคำเบิกความของนายธงชัยในชั้นพิจารณาซึ่งเบิกความหลังเกิดเหตุเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่งนายประทีป พยานคู่กับนายธงชัยได้ถึงแก่ความตายแล้ว เวลาที่ผ่านไปนานเช่นนี้ย่อมมีปัจจัยอื่นแทรกแซงกดดันให้นายธงชัยเบิกความเบี่ยงเบนไปจากที่ตนรู้เห็นตามความเป็นจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด เนื่องจากจำเลยเป็นพวกของนายสงบ และนายธงชัยกับนายประทีปก็เป็นพวกเดียวกับนายสงบ เมื่อนายประทีปถึงแก่ความตายในภายหลังจึงเบี่ยงเบนให้เรื่องตกแก่นายประทีป ส่วนคำให้การของนายประทีปในชั้นสอบสวน กระทำขึ้นหลังจากเกิดเหตุเพียง 4 วัน นายประทีปย่อมจดจำเหตุการณ์ได้ดี คำให้การของนายประทีปยืนยันว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองสอดคล้องกับคำให้การของนายธงชัย ถึงแม้คำให้การชั้นสอบสวนของนายธงชัยและนายประทีปเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วนายธงชัยกับนายประทีปอยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด ตามสภาพที่เป็นจริงนายธงชัยและนายประทีปย่อมมองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร เนื่องจากนายธงชัย นายประทีป นายสงบ จำเลยกับผู้ตายทั้งสองนั่งอยู่ในโต๊ะเดียวกัน คำให้การของบุคคลทั้งสองสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญ เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่หลบหนีไปทันทีเจ้าพนักงานตำรวจติดตามเป็นเวลานานหลายปีจึงสามารถจับกุมจำเลยได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายจริง
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ถึงแม้จะได้ความจากคำให้การนายประทีปว่านายประทีปเชื่อว่าการที่จำเลยยิงผู้ตายที่ 1 น่าจะมาจากสาเหตุที่นายสงบกับผู้ตายที่ 1 เคยมีมูลกันมาก่อนและใช้ให้จำเลยยิงโดยน่าที่จะมีการนัดแนะให้มาพบกัน เมื่อสบโอกาสจำเลยจึงใช้อาวุธปืนที่เตรียมมาและมีการขึ้นลำก่อนยิง แต่โจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้ปรากฏว่าจำเลยวางแผนหรือตระเตรียมการเพื่อฆ่าผู้ตายทั้งสองอย่างไรอันจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้นเป็นเพียงคาดคะเนว่าจำเลยตระเตรียมการหรือวางแผนฆ่าผู้ตายทั้งสองเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบเพราะร้อยตำรวจตรีโชคทวี เป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 1 ซึ่งเป็นผู้สอบสวนประจักษ์พยานโจทก์ทั้งหมด แต่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 3 เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ คดีนี้เหตุเกิดในเขตอำนาจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ ร้อยตำรวจตรีโชคทวีจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นระเบียบซึ่งกำหนดวิธีการบริหารภายในของราชการตำรวจ มิได้ทำให้อำนาจการสอบสวนที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องเปลี่ยนแปลงไปฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษฐานอื่นมารวมได้ คงให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9