แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77 และเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89/2 มาตรา 88/5 บัญญัติว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี หากผู้เสียภาษีมิได้เสียหรือนำส่งภาษีเมื่อถึงกำหนดชำระจึงจะถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 ซึ่งจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้เสียภาษี กรณีของโจทก์ การที่สำนักงานสรรพากรภาค 7 มีหนังสือเรื่อง อนุมัติให้ลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมิถุนายน 2548 แจ้งแก่โจทก์ว่า คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและหนังสือเรื่อง ผลการทบทวนการพิจารณาคำร้องของดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม แจ้งแก่โจทก์ว่ากรณีของโจทก์ยังไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันงดหรือลดเบี้ยปรับให้อีก และหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่นครสวรรค์ เรื่อง เตือนให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระนั้น หนังสือทั้งสามฉบับเป็นขั้นตอนก่อนมีการแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ หากโจทก์ไม่ชำระเบี้ยปรับตามหนังสือเตือนดังกล่าว เบี้ยปรับก็หาใช่ภาษีอากรค้างตาม ป.รัษฎากร ไม่ จำเลยย่อมไม่มีอำนาจเรียกเก็บจากโจทก์ได้ เพราะฉะนั้นหนังสือทั้งสามฉบับที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ตามฟ้องจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตาม ป.รัษฎากร ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือเลขที่ กค 0715/กม.2/11052 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 หนังสือเลขที่ กค 0715.03/กม.1.4/19143 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 และหนังสือเลขที่ กค 0715/กม.2/334 ลงวันที่ 11 มกราคม 2550
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เจ้าพนักงานของจำเลยเข้าตรวจสอบสถานประกอบการสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของโจทก์รวมสามแห่ง และแจ้งว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2547 ถึงมิถุนายน 2548 ไม่ถูกต้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอปรับปรุงยอดภาษีหลายครั้ง ต่อมาโจทก์ยินยอมชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งครบถ้วนทุกเดือนภาษี เว้นแต่เดือนภาษีมิถุนายน 2548 โจทก์คงชำระเพียงภาษีและเงินเพิ่ม คงเหลือเบี้ยปรับจำนวน 467,622.67 บาท โจทก์ยื่นคำร้องของดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยพิจารณาแล้ว ลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์เป็นหนังสือ จำเลยพิจารณาแล้วมีหนังสือยืนยันตามเดิม ต่อมาจำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรไปชำระ โจทก์ชำระเบี้ยปรับให้แก่จำเลยบางส่วนเป็นเงินจำนวน 19,484.28 บาท ยังคงเหลือเบี้ยปรับอีกจำนวน 214,327.05 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาสรรพากรภาค 7 มีหนังสือว่า โจทก์ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะอุทธรณ์ภาษีดังกล่าว โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงฟ้องเป็นคดีนี้
ในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีเดือนมิถุนายน 2548 ฉบับเพิ่มเติมในวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มให้แก่จำเลย อีกทั้งยื่นคำร้องของดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในวันเดียวกัน ตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยแนะนำ แม้การยื่นคำร้องของดหรือลดเบี้ยปรับจะเกิดจากความเข้าใจผิดของโจทก์หรือไม่ก็ตาม หาเป็นเหตุให้โจทก์เสียสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ เนื่องจากการยื่นคำร้องของดหรือลดเบี้ยปรับเป็นขั้นตอนก่อนมีการแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ และเมื่อจำเลยพิจารณาคำร้องของดหรือลดเบี้ยปรับแล้วมีหนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 7 ที่ กค 0715/กม.2/11052 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 เรื่อง อนุมัติให้ลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมิถุนายน 2549 แจ้งไปยังโจทก์ว่า กรณีของโจทก์ถือเป็นเหตุอันควรได้รับการผ่อนผันจึงลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย เมื่อโจทก์อุทธรณ์เป็นหนังสือ จำเลยมีหนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 7 ที่ กค 0715/กม.2/334 ลงวันที่ 11 มกราคม 2550 เรื่อง ผลการทบทวนการพิจารณาคำร้องของดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม แจ้งแก่โจทก์ว่า กรณีของโจทก์ยังไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้อีก อีกทั้งมีหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่นครสวรรค์ ที่ กค 0715.03/กม.1.4/19143 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เรื่อง เตือนให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระก็ตาม แต่หากโจทก์ไม่ชำระเบี้ยปรับดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีอำนาจเรียกเก็บจากโจทก์ได้ เว้นแต่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์แล้ว เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 และเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/2 และเมื่อโจทก์มิได้เสียหรือนำส่งเมื่อถึงกำหนดชำระจึงจะถือเป็นภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นเบี้ยปรับตามหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่นครสวรรค์ที่ กค 0715.03/กม.1.4./19143 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งจำเลยยังไม่ได้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 88/5 แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากรไม่ เพราะฉะนั้นหนังสือทั้งสามฉบับที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ตามฟ้องจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป
อนึ่ง คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 7 ที่ กค 0715/กม.2/11052 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 หนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 7 ที่ กค 0715/กม.2/334 ลงวันที่ 11 มกราคม 2550 และหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่นครสวรรค์ ที่ กค 0715.03/กม.1.4/19143 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งหนังสือทั้งสามฉบับดังกล่าวยังไม่มีผลทำให้โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับดังที่วินิจฉัยไว้ในตอนต้น จึงถือเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ชั้นต้น จำนวน 11,690 บาท และชั้นอุทธรณ์จำนวน 11,690 บาท นั้น เป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
พิพากษายืน คืนค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่เกินแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ