แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บันทึกฉบับพิพาทมีข้อความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ได้รับต้นฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารคืนไปจากจำเลยเป็นการเรียบร้อยแล้ว และห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอย่างใด ๆ ในทุก ๆ กรณี เอาจากจำเลยทั้งสิ้น โดยหุ้นส่วนผู้จัดการผู้แทนตามกฎหมายของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ลงชื่อพร้อมทั้งประทับตราโจทก์ไว้บันทึกดังกล่าวทำขึ้นหลังจากจำเลยชำระเงินค่าซื้อขายแพขนานยนต์จำนวน 3 ลำ ให้แก่โจทก์โดยหักเงินค่าปรับตามสัญญาออกแล้วแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องเรื่องเงินค่าปรับและค่าเสียหายจากจำเลยในทุกกรณี อันมีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายแพขนานยนต์ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850,851, และ 852 ย่อมมีผลผูกพันโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 3,422,193.75 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน จำนวน 3,342,480 บาท นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2534 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 973,897.94 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 79,713.75 บาท นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,979.38 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,401,071.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายแพขนานยนต์พิพาทฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 โดยกำหนดให้ส่งมอบภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน2533 หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์ได้ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการบางอย่างในแบบแปลนก่อสร้างเล็กน้อย จำเลยได้อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพราะมิใช่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสิ่งสาระสำคัญแห่งสัญญาจำเลยได้เตรียมข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้โจทก์รับไปดำเนินการจดทะเบียนและขอใบอนุญาตต่าง ๆ เกี่ยวกับแพขนานยนต์แต่โจทก์ละเลยไม่ติดต่อกับจำเลย โจทก์ไม่ส่งมอบงานให้จำเลยภายในกำหนดสัญญา จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยได้ปรับและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์จำนวน 3,342,480 บาท โดยมิได้บอกเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์ก็ยินยอมและมิได้โต้แย้ง ต่อมาโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม จำเลยได้ชี้แจงจนโจทก์ยอมรับความจริงจำเลยได้อนุญาตให้โจทก์รับหลักประกันคืนไปได้ แต่โจทก์ไม่มาติดต่อขอรับคืนจากจำเลยจนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม 2535 จึงได้มารับคืนไปโดยได้ยอมรับว่าเป็นความผิดของโจทก์และไม่ติดใจเรียกร้องอย่างใด ๆ เอาจากจำเลยตามบันทึกของโจทก์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2535 ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงระงับลงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2533โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายแพขนานยนต์จำนวน 3 ลำ เป็นเงิน 21,990,000บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2533 โจทก์นำหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 2,199,000 บาท ของธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ มอบไว้แก่จำเลยเป็นประกันการปฏิบัติโจทก์ส่งมอบแพขนานยนต์จำนวน 3 ลำ ให้จำเลยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2534 ช้ากว่ากำหนด 76 วัน จำเลยชำระเงินให้โจทก์โดยหักเป็นค่าปรับตามสัญญาจำนวน 3,342,480 บาท ลงวันที่ 27 มีนาคม 2534 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยลงวันที่ 3 เมษายน 2534 โต้แย้งว่าการหักเงินค่าปรับดังกล่าวไม่ถูกต้องต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2535 โจทก์ได้รับหนังสือค้ำประกันคืนจากจำเลยตามบันทึกหน้า 3 ของสัญญาซื้อขายดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า บันทึกหน้า 3 ของสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ บันทึกดังกล่าวมีข้อความว่า “วันที่ 4 ธันวาคม 2535 ห้างหุ้นส่วนจำกัด อู่เรือธนบุรี ได้รับต้นฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ ที่ ค.สอก.177/2533 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 คืนไปจาก ร.ส.พ. เป็นการเรียบร้อยแล้วและห้างหุ้นส่วนจำกัด อู่เรือธนบุรี ไม่ติดใจเรียกร้องอย่างใด ๆ ในทุก ๆ กรณีเอาจาก ร.ส.พ. ทั้งสิ้น” ลงชื่อนายบุญช่วย สมรรถศรบุศย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ/ผู้แทนตามกฎหมายพร้อมทั้งประทับตราโจทก์ เห็นว่า บันทึกดังกล่าวทำขึ้นหลังจากจำเลยชำระเงินค่าแพขนานยนต์จำนวน 3 ลำ ให้แก่โจทก์โดยหักเงินค่าปรับตามสัญญาออกแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องเรื่องเงินค่าปรับและค่าเสียหายจากจำเลยในทุกกรณีอันมีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันและนายบุญช่วยหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ได้ลงชื่อพร้อมประทับตราโจทก์ลงในบันทึกดังกล่าว จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 851 และ 852 บันทึกดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ ดังนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามฟ้องจากจำเลยได้
พิพากษายืน