แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยปฏิเสธตลอดมาว่า จำเลยมีความพิการทางสมอง ไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำของตนเป็นความผิดดังนั้นปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง หรือไม่นั้น ศาลต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 59 หรือไม่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเป็นบุคคล ปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้เป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑, ๔๗, ๔๘, ๖๙, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิ, ๗๔ จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓, ๙๑ ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลย ศาลไม่เพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมี จิตบกพร่องหรือไม่เท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยสำนึกใน การกระทำ อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ หรือไม่อีกด้วย เพราะจำเลยปฏิเสธตลอดมาว่า จำเลยมีความพิการทางสมองไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำของตนเป็นความผิด ดังปรากฏจาก รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ด ระบุว่า เยาวชนมีสุขภาพทางด้านร่างกายที่แข็งแรง แต่มีความจำด้านสมองเลอะเลือน จำความไม่ค่อยได้ ไม่สามารถที่จะจำและลำดับเหตุการณ์ใด ๆ ได้ เยาวชนเคยประสบอุบัติเหตุ เมื่ออายุได้ ๓ ขวบ โดยถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชน ทำให้มีรอยเขียวซ้ำตามร่างกายหลายแห่งต้องนอนโรงพยาบาล ๑ คืน เมื่อเยาวชนโตขึ้นก็มีความผิดปกติทางด้านสมองจนปัจจุบันนี้ บิดามารดาต้องดูแลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเจือสมกับสำเนาทะเบียนนักเรียนโรงเรียนเมืองหนองพอก ที่ระบุไว้ในหมายเหตุว่า “มีปัญหาทางสมอง” และใบแสดงความเห็นของแพทย์ ที่ยืนยันว่า จำเลยปัญญาอ่อน ไอคิว เท่ากับ ๗๗ ควรได้รับการอบรมฝึกฝนเป็นพิเศษ นอกจากนี้แพทย์หญิงมานิดา สิงหัษฐิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์ ซึ่งตรวจร่างกายจำเลยและลงความเห็นในเอกสารดังกล่าว รวมทั้งเอกสารหมาย ป.ล. ๑ ด้านหน้า ได้เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า จากการตรวจสุขภาพจิตของจำเลยพบว่า พูดไม่ชัด ตอบช้า ไม่รู้ซ้ายขวา จากการตรวจขั้นต้น พบว่าปัญญาอ่อน หากไม่ได้รับการฝึกฝนการจะรับรู้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด จะรับรู้ได้น้อยกว่าคนปกติ การสำนึกว่าผิดหรือ ถูกนั้น ถ้าเป็นสิ่งใกล้ตัวอาจจะรับรู้ได้ เช่น ทำของแตก หรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งถ้าไม่มีใครบอกว่าสิ่งนั้นผิดคนที่มีระดับ ไอคิวดังกล่าวอาจจะไม่รับรู้ว่าสิ่งดังกล่าวนั้น ถ้าทำลงไปแล้วจะผิด และพยานได้ตอบคำถามค้านของผู้แทนโจทก์ด้วยว่า คนระดับไอคิว ๗๗ เมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป จะอยู่ในระดับเด็กอายุตั้งแต่ ๕ ขวบ ถึง ๑๐ ขวบ ในกรณีจำเลยตัดต้นไม้ จำเลยจะรับรู้ว่ากำลังตัดต้นไม้อยู่ แต่หากไม่มีใครบอกว่าการที่ตัดต้นไม้นั้นผิดกฎหมาย จำเลยก็ไม่อาจรู้ได้ จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลย ซึ่งจำเลยบอกได้แต่ชื่อ นามสกุล ส่วนบ้านเลขที่ อายุ หมู่บ้าน จำเลยบอกว่าไม่รู้ ไม่ทราบ เมื่อที่ปรึกษากฎหมายถามจำเลยว่า ถูกจับเรื่องอะไร และเคยถูกขังหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่รู้ แม้ศาลช่วย ถามจำเลย แต่ก็ไม่ได้ใจความ จำเลยบอกเพียงว่าไม่รู้ไม่ทราบเท่านั้น เหตุนี้แม้โจทก์มีร้อยตำรวจโทบุญช่วย บุญวิเศษ และนายดาบตำรวจอานุภาพ ผ่าภูธร เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับจำเลยเบิกความเป็นประจักษ์พยานโจทก์ว่า เห็นจำเลยใช้น้ำมันหล่อลื่นหยอดโซ่เลื่อยยนต์ของนายวิเศษ และกำลังปัดกวาดขี้เลื่อยอยู่ ทั้งอ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ตามบันทึกการจับกุม ก็ตาม เมื่อจำเลยเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้นั้นเป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำ ทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ ที่ศาลล่างทั้งสอง วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิด แต่ให้รอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ของกลางให้ริบ