แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท จ. และบริษัท อ. ผู้เอาประกันทั้งสองมาเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะนำค่าเสียหาย และดอกเบี้ยที่ผู้เอาประกันแต่ละรายมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง มารวมและนำมาเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องจำเลยก็ตาม แต่สิทธิ ของโจทก์มีมูลมาจากสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันสองรายซึ่งแยกต่างหากจากกันได้ การคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงต้องแยกพิจารณา ตามสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันแต่ละรายไป
หนังสือมอบอำนาจมิได้เจาะจงว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนผู้มอบอำนาจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ผู้รับมอบอำนาจ จึงมีอำนาจกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายในขอบเขตที่ผู้มอบอำนาจให้ไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 และแม้โจทก์จะใช้ หนังสือมอบอำนาจกระทำการอย่างอื่นแล้วก็ตาม ก็ไม่มีกฎหมายใด ห้ามมิให้นำมาใช้ฟ้องคดีนี้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์รัฐนิวแฮมพ์เชอร์ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ตั้งสำนักงานประกอบธุรกิจรับประกันภัยในประเทศไทย โดยมีนายเลสลี่ จอห์น โมเอท เป็นผู้จัดการสาขาในประเทศไทยและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ นายเลสลี่ จอห์น โมเอทได้มอบอำนาจช่วงให้นายไพบูลย์ จิรายุวัฒน์เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินการต่าง ๆ แทนรวมทั้งการฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันประกอบธุรกิจรับขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นทางค้าปกติโดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการเรือเดินทะเลชื่อ “บางบัว” (BANGBUA) รับจ้างขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยในคดีนี้ เรือบางบัวได้บรรทุกสินค้าพิพาทจากเมืองท่าต้นทางที่บินตูลู ประเทศมาเลเซียมาถึงเมืองท่าปลายทาง กรุงเทพมหานครประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่ง โจทก์รับประกันภัยสินค้าจากบริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด เป็นการรับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิด ส่วนใหญ่ประกอบด้วยปุ๋ยผสมวัตถุเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และเมล็ดพืชที่จะส่งมาให้บริษัททั้งสองจากต่างประเทศเป็นงวด ๆ การประกันภัยนี้ทำเป็นระยะยาวโดยโจทก์ออกกรมธรรม์เปิดหมายเลข 10110 ให้ผู้เอาประกันภัยทั้งสองซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันไว้เป็นหลักฐาน เมื่อใดสินค้าเข้ามาในประเทศไทยผู้เอาประนภัยจะแจ้งให้โจทก์ทราบ แล้วโจทก์จะออกใบรับรองการประกันภัยสำหรับสินค้างวดนั้นให้ผู้เอาประกันภัยเรือบางบัวเดินทางจากท่าเรือประเทศมาเลเซียมายังประเทศไทยโดยบรรทุกปุ๋ยผสม ABF GRANULAR UREA FERTILZER สูตร46 – 0 – 0 จำนวน 4,000 เมตริกตัน เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทเจียไต๋จำกัด ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเงิน 17,980,240 บาท และบรรทุกปุ๋ยผสม ABF GRANULAR UREA FERTILIZER สูตร 46 – 0 – 0 จำนวน1,409,889 เมตริกตัน เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัดซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเงิน 6,337,522.77 บาท จำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งสำหรับสินค้าทั้งสองรายการดังกล่าว ให้แก่ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าเพื่อเป็นหลักฐานรวม 2 ฉบับ ภายหลังจากที่ผู้ขายได้รับชำระค่าสินค้าทั้งสองรายการข้างต้นโดยผ่านพิธีการทางธนาคารแล้วผู้ขายสินค้าได้โอนใบตราส่งใบกำกับสินค้า ใบรายการบรรจุหีบห่อสำหรับสินค้าทั้งสองรายการให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรมจำกัด ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง เรือบางบัวเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2537 และได้ขนถ่ายสินค้าปุ๋ยผสมลงจากเรือเข้าไปเก็บในคลังสินค้าของบริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด เมื่อการขนถ่ายสินค้าเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าสินค้าทั้งสองรายการได้รับความเสียหายและสูญหาย คิดเป็นค่าเสียหาย173,329 บาท และ 61,097 บาท ตามลำดับ บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ได้เรียกร้องค่าเสียหายสำหรับสินค้าทั้งสองรายการไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ร่วมประกอบธุรกิจในการรับขนส่งสินค้าทางทะเลแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระบริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ผู้เอาประกันภัยจึงได้เรียกร้องจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัย โจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าสินค้าได้สูญหายและเสียหายจริง จึงได้จ่ายค่าเสียหายสำหรับสินค้าทั้งสองรายการ ให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรมจำกัด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2537 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 234,426 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิตามกฎหมายในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองในยอดเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6ตุลาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน250,005.53 บาท แก่โจทก์ และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน234,426 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงสำเนาเท่านั้น หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโจทก์ใช้เฉพาะการในการยื่นขออนุญาตต่อกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้มีสิทธิประกอบธุรกิจรับประกันภัยในราชอาณาจักร โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาใช้มอบอำนาจ และมอบอำนาจช่วงในการฟ้องคดีนี้นายไพบูลย์ จิรายุวัฒน์ ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจช่วงโดยชอบ ย่อมไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 234,426 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 13 ตุลาคม2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ผู้เอาประกันทั้งสองมาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะนำค่าเสียหายและดอกเบี้ยที่ผู้เอาประกันแต่ละรายมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองมารวมกันเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น250,005.53 บาท และนำมาเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์มีมูลมาจากสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันสองรายซึ่งแยกต่างหากจากกันได้ ดังนี้ การคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงต้องแยกพิจารณาตามสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันแต่ละรายไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรมจำกัด เป็นเงิน 173,329 บาท และ 61,097 บาท ตามลำดับ เมื่อวันที่ 13ตุลาคม 2537 คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 11,519 บาท และ 4,060 บาท รวมเป็นค่าเสียหายและดอกเบี้ยแต่ละรายเป็นจำนวนเงิน 184,848 บาท และ 65,157.53 บาท ตามลำดับค่าเสียหายและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องที่โจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันแต่ละรายจึงไม่เกินสองแสนบาท จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จากพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ใช้ความระมัดระวังในการจัดระวางบรรทุกสินค้าให้เหมาะสม ทั้งจำเลยทั้งสองไม่อาจตรวจสอบได้ว่าสินค้าพิพาทมีน้ำหนักเท่าใดเนื่องจากเป็นการรับสินค้าแบบเทกองแต่ก็ได้บันทึกไว้แล้วว่ารายละเอียดให้โดยผู้ส่งผู้ขนส่งไม่รับผิดชอบ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้น้ำหนักสินค้าพิพาทที่ขาดหายไปก็เนื่องมาจากการใช้วิธีการชั่งน้ำหนักที่แตกต่างกันนั้น เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า จำเลยทั้งสองประกอบธุรกิจรับขนสินค้าทางทะเลร่วมกัน สินค้าพิพาทสูญหายและเสียหายจริงขณะที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปในประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการคำนวณค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จะได้จำนวนค่าเสียหายสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องและมิได้นำสืบมาในชั้นพิจารณาว่าสินค้าพิพาทมีมูลค่า ณ ท่าปลายทางเท่าไร จึงไม่อาจคำนวณค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 นั้น เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าเสียหาย ทั้งยังเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายฎีกาจำเลยทั้งสองประเด็นดังกล่าวจึงต้องห้ามตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสถานที่ประกอบกิจการในประเทศไทย โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเลสลี่ จอห์น โมเอท ผู้จัดการโจทก์ในประเทศไทยมีอำนาจฟ้องคดีและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้นายเลสลี่ จอห์น โมเอท ได้มอบอำนาจช่วงให้นายไพบูลย์ จิรายุวัฒน์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ตามสำเนาใบมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ในระหว่างพิจารณาโจทก์อ้างส่งสำเนาใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เป็นพยานอันเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีต่อเนื่องกันกับการมอบอำนาจตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และตามสำเนาใบมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มีข้อความตามคำแปลเป็นภาษาไทย ข้อ 1 ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีทั้งที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บริษัทฯ อันเกิดจากกรมธรรม์ใด ๆ ที่ออกให้ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ รวมตลอดถึงการฟ้องร้องและดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย หรือกระบวนการเพื่อความยุติธรรมใด ๆ ทั้งหลาย ส่วนสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความตามคำแปลเป็นภาษาไทยระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีทั้งที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บริษัทฯ อันเกิดจากกรมธรรม์ประกันภัยใด ๆ ที่ออกให้ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ รวมตลอดถึงการเรียกร้องและการดำเนินกระบวนการตามกฎหมายหรือกระบวนการเพื่อความยุติธรรมใด ๆ ทั้งหลาย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้เป็นเพียงหนังสือมอบอำนาจเฉพาะการ และเคยใช้ยื่นต่อกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์เพื่อใช้ในการขอประกอบธุรกิจรับประกันภัยในประเทศไทย ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวนั้นเห็นว่า ข้อความในสำเนาหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวมิได้เจาะจงว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนผู้มอบอำนาจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจกระทำการใด ๆก็ได้ภายในขอบเขตที่ผู้มอบอำนาจให้ไว้ซึ่งรวมทั้งการเป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีนี้และแม้โจทก์จะใช้หนังสือมอบอำนาจกระทำการอย่างอื่นแล้วก็ตาม ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้นำมาใช้ฟ้องคดีนี้อีก นายเลสลี่ จอห์น โมเอท ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจกระทำกิจการใด ๆ ในทางจัดการแทนโจทก์ รวมทั้งการฟ้องคดีหรือมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องคดีนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษายืน