คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8730/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มูลเหตุที่มีการออกเช็คพิพาทมาจากการที่โจทก์มีนิติสัมพันธ์กับบริษัท ฟ. ตามสัญญาตั้งตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งคู่สัญญามีเฉพาะโจทก์กับบริษัท ฟ. เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นประกันในการที่บริษัท ฟ. จะต้องปฏิบัติตามสัญญา และเมื่อบริษัท ฟ. เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ต้องมีหน้าที่คืนเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ หากบริษัทดังกล่าวไม่ชำระคืน โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิบังคับเอาจากเช็คพิพาทได้ หลังจากโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่บริษัท ฟ. ป. ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ฟ. และ บ. ผู้จัดการฝ่ายขายรวมทั้งจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ถอนคำร้องทุกข์เฉพาะบริษัท ฟ. และ ป. โดยให้เหตุผลว่าได้รับการชดใช้เงินคืนจากบุคคลดังกล่าวจนเป็นที่พอใจแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับเงินคืนจากบริษัท ฟ. และป. รวมจำนวนถึง 500,000 บาทเศษ ย่อมทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่าโจทก์พอใจที่ได้รับเงินไม่ต่ำกว่าจำนวนเงิน 500,000 บาท ที่โจทก์ลงทุนไป จึงได้ถอนคำร้องทุกข์ ซึ่งแม้จะมิได้ถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลยทั้งสองด้วย ก็เป็นเพียงโจทก์ยังมีเจตนาให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองต่อไปเท่านั้น ส่วนความรับผิดทางแพ่งของจำเลยทั้งสองกับหลักประกันสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ฟ. ย่อมเป็นอีกกรณีหนึ่ง เมื่อโจทก์พอใจตามที่ตกลงกันได้กับ ป. มูลหนี้ในทางแพ่งจึงระงับ ฉะนั้น เมื่อบริษัท ฟ. หลุดพ้นจากความรับผิดแล้วเช็คพิพาทที่เป็นเพียงหลักประกันการชำระหนี้ระหว่างบริษัท ฟ. กับโจทก์ก็ย่อมไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 333,334 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 333,334 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 27 มกราคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 1 เป็นญาติกับโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของบริษัทฟอร์จูนเกท จำกัด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 โจทก์ทำสัญญาให้บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในจำนวนเงินลงทุน 500,000 บาท ได้ผลตอบแทน 30,000 บาท ต่อเดือน มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขานนทบุรี จำนวนเงิน 500,000 บาท ไม่ลงวันที่สั่งจ่าย โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบให้แก่โจทก์ เนื่องในการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าว ต่อมาบริษัทดังกล่าวจ่ายเงินตอบแทนตามสัญญาให้แก่โจทก์เพียงช่วงระยะหนึ่งแล้วหยุดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินคดีแก่บริษัทฟอร์จูนเกท จำกัด นายปัญญา แสงวิภารัตน์ กรรมการ นายบุญลือ อินทกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย และจำเลยทั้งสองแต่ต่อมาได้ถอนคำร้องทุกข์เฉพาะบริษัทดังกล่าวและนายปัญญาเนื่องจากได้เจรจาตกลงกันและนายปัญญาคืนเงินจำนวน 166,666 บาทให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาฉ้อโกง ศาลพิพากษายกฟ้องและถูกฟ้องคดีแพ่งให้รับผิดตามตั๋วเงินเป็นคดีนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุที่มีการออกเช็คพิพาทมาจากการที่โจทก์มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทฟอร์จูนเกทจำกัด ตามสัญญาตั้งตัวแทนในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งคู่สัญญามีเฉพาะโจทก์กับบริษัทดังกล่าวเท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันในการที่บริษัทดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามสัญญาและเมื่อบริษัทดังกล่าวเป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ต้องมีหน้าที่คืนเงินจำนวน500,000 บาท แก่โจทก์ หากบริษัทดังกล่าวไม่ชำระคืน โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิบังคับเอาจากเช็คพิพาท ได้แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยทั้งสองว่าหลังจากโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าว นายปัญญาและนายบุญลือเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2539 และร้องทุกข์เพิ่มเติมให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ ต่อมาวันที่ 15 เดือนเดียวกัน โจทก์ก็ได้ถอนคำร้องทุกข์เฉพาะบริษัทดังกล่าวและนายปัญญาโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ได้รับการชดใช้เงินคืนจากบุคคลดังกล่าวจนเป็นที่พอใจแล้วกับโจทก์ยังเบิกความรับว่า โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทเป็นเงินประมาณ 344,000 บาทในการลงทุนตามสัญญา ทำให้เห็นได้ว่าเมื่อรวมกับเงินจำนวน 166,666บาท ที่นายปัญญายินยอมชำระคืนแก่โจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์นั้น โจทก์ได้รับเงินจากบริษัทดังกล่าวจำนวนถึง 500,000บาทเศษ ย่อมทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่าโจทก์พอใจที่ได้รับเงินไม่ต่ำกว่าจำนวนเงิน 500,000 บาท ที่โจทก์ลงทุนไป จึงได้ถอนคำร้องทุกข์ซึ่งแม้จะมิได้ถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลยทั้งสองด้วยก็เป็นเพียงโจทก์ยังมีเจตนาให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองต่อไปเท่านั้น ส่วนความรับผิดทางแพ่งของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังเช็คพิพาท กับหลักประกันสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าวย่อมเป็นอีกกรณีหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์พอใจตามที่ตกลงกันได้กับนายปัญญากรรมการของบริษัทดังกล่าว มูลหนี้ในทางแพ่งจึงระงับฉะนั้น เมื่อบริษัทดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิดแล้วเช็คพิพาทที่เป็นเพียงหลักประกันการชำระหนี้ระหว่างบริษัทดังกล่าวกับโจทก์ก็ย่อมไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share