แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่
การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามแผนที่สังเขปส่วนที่ระบายสี และห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 758,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการกรีดยางพาราและตัดผลปาล์มน้ำมันในที่ดินเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินค่าเช่าบ้านให้กับโจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินตามแผนที่ส่วนที่ระบายสี ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 408,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 1 พฤษภาคม 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 16,500 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดทนายความให้รวม 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ทิศเหนือติดที่ดินของนางสมฤดี ทิศใต้ติดที่ดินของนางเจรียง ทิศตะวันออกติดถนนสามท่าพรุ – ดินแดง ทิศตะวันตกติดที่ดินนางเจรียง โจทก์และครอบครัวพักอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 49 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท และโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยการปลูกต้นปาล์มน้ำมันและต้นยางพารา ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2553 และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยทั้งสามกับพวกได้นำเสาคอนกรีตเข้ามาปักล้อมที่ดินทั้ง 20 ไร่ และล้อมรั้วลวดหนามทั้งรื้อบ้านบางส่วนของโจทก์และเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทและบ้านดังกล่าวจากนางชอุ่ม ภริยาโจทก์ โดยโจทก์รู้เห็นให้ความยินยอมแล้วตามสัญญาซื้อขาย 8 ฉบับ เอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ต่อมาได้ถอนฟ้องและภายหลังจึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวหรือไม่ คดีนี้โจทก์อ้างว่า สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน โดยโจทก์และนางชอุ่ม ภริยาโจทก์เบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ซึ่งได้บุกเบิกแผ้วถางทำประโยชน์มาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนางชอุ่มเมื่อปี 2514 และเบิกความถึงสาเหตุแห่งการทำสัญญาซื้อขาย ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 ว่าเป็นการทำแทนสัญญากู้ยืมเงินในแต่ละครั้งที่นายฐานพัฒน์ บุตรโจทก์ขอกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 3 แต่ไม่ได้ทำสัญญากู้ไว้ โดยจำเลยที่ 3 ได้นำสัญญาซื้อขายที่ดินมาให้ทำแทนสัญญากู้ยืมเงินอ้างว่าเนื่องจากเป็นการกู้นอกระบบซึ่งจำเลยที่ 3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 บาทต่อเดือน หากมีการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนแล้วจำเลยที่ 3 ก็จะคืนสัญญาซื้อขายที่ทำไว้แทนสัญญากู้นั้นให้เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว โดยมีนายฐานพัฒน์ บุตรโจทก์เบิกความถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งระบุว่ามีการตกลงขายที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขสำรวจ 131/2549 จำนวน 5 ไร่ เป็นเงิน 800,000 บาท นั้นเป็นการทำแทนการกู้ยืมเงินที่พยานไปขอกู้ยืมจากจำเลยที่ 3 จำนวน 50,000 บาท จึงคิดเป็นไร่ละ 10,000 บาท แต่ด้วยความไว้วางใจเห็นเป็นญาติสนิท และจำเลยที่ 3 บอกว่าเนื่องจากเป็นการกู้นอกระบบจึงให้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายแทนไม่มีผลใดๆ เกี่ยวกับที่ดินที่ระบุว่ามีการซื้อขาย โดยจำเลยที่ 3 ให้พยานนำสัญญาซื้อขายที่ยังไม่มีการกรอกข้อความไปให้โจทก์หรือนางชอุ่มลงลายมือชื่อ พยานจึงนำเอกสารดังกล่าวไปให้นางชอุ่มลงลายมือชื่อในช่องผู้ขายและให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องพยานแล้วนำกลับมาที่บ้านจำเลยที่ 3 โดยพยานเป็นผู้กรอกข้อความในสัญญาดังกล่าว พยานได้รับเงินไปเพียง 50,000 บาท ตามที่กู้ยืมโดยไม่ได้รับเงินจำนวน 800,000 บาท และจำเลยที่ 3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งหลังจากนั้น 20 วัน พยานก็ได้นำเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไปคืนจำเลยที่ 3 ที่บ้านและขอคืนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย ล.2 กลับมา จำเลยที่ 3 รับเงินดังกล่าวไปแต่ยังไม่คืนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้โดยอ้างว่าที่บ้านยังยุ่งอยู่ พยานไว้วางใจจำเลยที่ 3 จึงไม่ได้นำสัญญาซื้อขายดังกล่าวกลับคืนมาในวันนั้น สำหรับสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.3, ล.6, ล.7 และ ล.8 ก็ทำในลักษณะเดียวกันเพียงแต่ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย ล.6 และ ล.8 พยานได้ปลอมลงลายมือชื่อของนางชอุ่มในช่องผู้ขาย ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2552 พยานได้นำต้นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 8,000 บาท ที่กู้ยืมไปตามเอกสารหมาย ล.9 ไปคืนให้แก่จำเลยที่ 3 แต่ไม่พบ จึงได้ไปพบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 3 และอยู่บ้านตรงข้ามกับบ้านจำเลยที่ 3 เพื่อฝากคืนเงินดังกล่าว แต่ครั้งนี้พยานรู้สึกไม่สบายใจเนื่องจากจำเลยที่ 3 ยังไม่ได้คืนสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.2, ล.3, ล.6, ล.7 และ ล.8 กลับคืน จึงขอให้จำเลยที่ 2 ทำหลักฐานการคืนเงินกู้ครั้งนี้ให้ จำเลยที่ 2 นำสัญญากู้ยืมเงินมาให้พยานกรอกข้อความเพื่อเป็นหลักฐานการคืนเงิน 48,000 บาท โดยครั้งแรกระบุเป็นเงินกู้ 150,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ทักท้วงว่าสูงเกินไปขอให้ระบุแค่ 90,000 บาท จึงมีการขีดฆ่าจำนวน 150,000 บาท แล้วระบุใหม่เป็น 90,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ก่อนที่จะส่งมอบเงิน 48,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีสำเนาสัญญากู้มาสนับสนุน แม้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาที่เขียนโดยกระดาษก๊อปปี้ (กระดาษคาร์บอน) โดยมีร่องรอยแก้ไขข้อความในช่องที่ปรากฏลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จากที่เป็นข้อความเป็นลายพิมพ์ว่าผู้ให้กู้ เป็นขีดฆ่าออกแล้วเขียนว่าผู้กู้ แต่ข้อความที่แก้ไขดังกล่าวก็สอดคล้องกับข้อความในสัญญาข้อ 1 ที่ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ได้กู้เงินของนายฐานพัฒน์เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ทั้งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวจริง ส่วนที่จำเลยที่ 2 เบิกความบ่ายเบี่ยงว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ให้กู้ แต่นายฐานพัฒน์ขีดฆ่าคำว่าผู้ให้กู้ แล้วเขียนแก้ไขเป็นผู้กู้นั้น ขัดแย้งกับข้อความในสัญญาข้อ 1 จึงไม่มีเหตุผลน่ารับฟัง เชื่อว่าเหตุที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ระบุว่าจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากนายฐานพัฒน์เป็นไปตามคำเบิกความของนายฐานพัฒน์ ประกอบกับเมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ซึ่งลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 และวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ตามลำดับระบุเพียงเนื้อที่ที่ทำการซื้อขายจำนวน 5 ไร่ ในราคา 800,000 บาท และเนื้อที่ 3 ไร่ ในราคา 500,000 บาท ตามลำดับ โดยไม่ได้ระบุแนวอาณาเขตที่ดินที่ซื้อขายแต่ละครั้งให้ปรากฏแน่ชัดว่ามีอาณาเขตติดที่ดินใดบ้าง ซึ่งตามปกติย่อมเป็นข้อสาระสำคัญที่อยู่ในวิสัยของบุคคลทั่วไปที่ทำการซื้อขายที่ดินจักต้องคำนึงถึงเพื่อไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งเรื่องตำแหน่งที่ดินที่ทำการซื้อขาย จึงถือเป็นข้อพิรุธ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความอ้างว่าในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินแต่ละครั้ง โจทก์เป็นคนรังวัดปักเขตแบ่งแยกที่ดินและส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยที่ 3 ตามเนื้อที่ในสัญญาซื้อขายทุกครั้งนั้น กลับปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเพิ่งเข้าไปทำรั้วเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 ทั้งราคาซื้อขายที่ดินทั้งสองครั้งดังกล่าวมีราคาสูงถึง 800,000 บาท และ 500,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ถึงที่มาของเงินที่นำมาซื้อว่าจำเลยที่ 3 กู้มาจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 3 มีเอกสารในการจัดหาเงินซึ่งหมายถึงสัญญากู้แต่ไม่ได้นำมาแสดงต่อศาล จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และที่จำเลยที่ 3 เบิกความกล่าวอ้างว่าเหตุที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 กับนางชอุ่ม เพราะได้รับการบอกเล่าจากนายบุญเอก ไม่ทราบชื่อสกุล ซึ่งเป็นหลานของนางชอุ่มว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนางชอุ่มนั้น ก็เป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์และนางชอุ่มเบิกความยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้บุกเบิกแผ้วถางทยอยทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่อายุ 17 ปี โดยโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินทั้ง 20 ไร่ ดังกล่าวมาก่อนที่จะได้นางชอุ่มเป็นภริยาโดยมีการจดทะเบียนสมรสกันในปี 2514 ซึ่งตามสำเนาทะเบียนสมรสระบุว่าโจทก์กับนางชอุ่มจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2514 และตามสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่าโจทก์ได้เข้ามาอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 49 อันเป็นบ้านพิพาทตั้งแต่ปี 2499 แม้ไม่ได้ระบุว่าโจทก์อยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวในฐานะเจ้าบ้านก็หาทำให้เป็นข้อพิรุธทำให้คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวต้องเสียหายจนไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างมาในฎีกา ทั้งจำเลยที่ 3 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่านางชอุ่มเป็นคนพื้นเพอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 และนางชอุ่มได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดกระบี่ภายหลังสมรสกับโจทก์ จึงเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์และนางชอุ่ม ทำให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทมาก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกับนางชอุ่ม และเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ตามคำเบิกความของนายฐานพัฒน์ที่ว่าจำเลยที่ 3 มีความสนิทสนมเสมือนญาติกับพยานและพยานทราบว่าจำเลยที่ 3 ปล่อยเงินกู้นอกระบบจึงไปขอความช่วยเหลือเพราะพยานต้องการเงินไปทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ตกลงให้ความช่วยเหลือในการให้เงินกู้ แต่จำเลยที่ 3 ให้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแทนสัญญากู้โดยจำเลยที่ 3 นำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินที่ยังไม่มีการกรอกข้อความมาให้พยานแล้วบอกให้พยานนำไปขอลายเซ็น (ลายมือชื่อ) จากบิดาหรือมารดาแล้วนำมาให้จำเลยที่ 3 พยานจึงนำสัญญาซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย ล.2 ไปให้นางชอุ่มลงลายมือชื่อในช่องผู้ขายและให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องพยานแล้วนำกลับมาให้จำเลยที่ 3 โดยพยานเป็นผู้กรอกรายละเอียดในสัญญาดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบข้อพิรุธของสัญญาดังกล่าวที่ไม่มีการระบุแนวอาณาเขตที่ดินติดต่อให้แจ้งชัดถึงตำแหน่งที่ดินที่ทำการซื้อขาย จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากมิได้มีเจตนาทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันจริงโดยเป็นการทำแทนสัญญากู้และเมื่อมีการลงลายมือชื่อนางชอุ่มในสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.2 จึงเป็นที่มาของการที่ต้องให้มีลายมือชื่อของนางชอุ่มในฐานะผู้ขายในสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.9 เพราะเป็นที่ดินแปลงเดียวกันในลักษณะทยอยซื้อ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสาม ส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างในฎีกาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของนางชอุ่มโดยเมื่อประมาณปี 2533 นางชอุ่มได้พิพาทเป็นคดีฟ้องร้องพี่น้องของนางชอุ่ม โดยในคดีดังกล่าวนางชอุ่มกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2531 นางชอุ่มโจทก์คดีนี้และบุตรได้ช่วยกันแผ้วถางที่ดินซึ่งในที่สุดคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2535 ให้นางชอุ่มมีสิทธิครอบครองในที่ดินที่กล่าวอ้างในคำฟ้องในส่วนตามใบจองของนายมิ่ง ซึ่งมีเนื้อที่ 32 ไร่ ตามสำเนาคำพิพากษาหมายเลขคดีแดงที่ 1534/2535 ที่แนบท้ายฎีกาของจำเลยทั้งสาม แต่ต่อมาคงเหลือที่ดินเพียง 20 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ในทำนองว่าที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าวนั้น เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะฟ้องคดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยทั้งสามอ้างในฎีกาว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองซึ่งจำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามได้บุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟังทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของนางชอุ่ม เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจากนางชอุ่ม ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปีหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.9 เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำมาใช้อ้างสิทธิตามคำให้การของจำเลยทั้งสามและฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน พิพากษาให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์วันที่ 11 มกราคม 2553 และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นเวลาเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำความผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามอีกว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามให้การยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วรอบที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้อยู่ในเขตที่ดินและบ้านพิพาทต่อเนื่องนับแต่วันที่ 11 มกราคม 2553 และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงวันฟ้องวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ภายหลังจากจำเลยทั้งสามรื้อกระเบื้องหลังคาประตูหน้าต่างบ้านของโจทก์แล้วได้ปรับปรุงบ้านของโจทก์ดีกว่าเดิมจึงไม่มีความเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับตัวบ้าน ส่วนค่าเช่าบ้านและรายได้จากยางพาราและปาล์มนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่น่าเชื่อว่ามีการเช่าบ้านกันจริง และผลผลิตต่อเดือนของยางพาราและปาล์มน้ำมันไม่คงที่แน่นอนทำนองว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สูงเกินจริงนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคสอง ได้กำหนดหลักการในการกำหนดราคาทรัพย์สินที่ศาลจะสั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหายนั้น ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง ส่วนจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า นับตั้งแต่จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อกระเบื้องหลังคา ประตู และหน้าต่างบ้านพิพาทพร้อมกับล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว จำเลยทั้งสามก็ไม่ได้ให้โจทก์และครอบครัวเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทอีก และโจทก์มีสัญญาเช่าบ้านกับพยานบุคคลผู้ให้เช่ามาเบิกความยืนยันการเช่า ทั้งราคาค่าเช่าก็กำหนดกันเพียงเดือนละ 1,500 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ไม่ให้การต่อสู้และนำสืบโต้แย้งว่าโจทก์และครอบครัวมีบ้านหลังอื่นอยู่อาศัยโดยไม่ต้องเช่าหรือความจริงไม่มีการเช่าและราคาค่าเช่ากำหนดสูงเกินความจริงอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนค่าเสียหายของตัวบ้านที่ถูกรื้อนั้น เมื่อพิจารณาจากรูปถ่ายสภาพบ้านก่อนและหลังถูกรื้อนั้นมีความชัดเจนว่ามีความเสียหายมากพอสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหาย 100,000 บาท จึงเชื่อว่าไม่เกินความเสียหายแท้จริง ที่จำเลยทั้งสามปรับปรุงภายหลังจากนั้นตามรูปถ่ายก็เป็นไปเพื่อการใช้ประโยชน์ของจำเลยทั้งสามเอง ย่อมไม่อาจนำมาคำนวณหักกลบลบกันกับผลที่จำเลยทั้งสามได้กระทำไปแล้วก่อนนั้นได้ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากรายได้ในผลผลิตยางพาราอายุ 8 ปี พื้นที่ 15 ไร่ กับปาล์มน้ำมันอายุ 17 ปี พื้นที่ 5 ไร่ นั้น แม้ความจริงผลผลิตอาจจะไม่เท่ากันทุกเดือนและจำนวนไร่อาจไม่เต็มพื้นที่ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้เดือนละ 15,000 บาท เป็นการกำหนดโดยใช้ค่าเฉลี่ยคำนวณเป็นรายได้ต่อเดือนในลักษณะเพื่อให้มีความชัดเจนแน่นอนในการบังคับตามคำพิพากษา และเชื่อว่าไม่เกินความเสียหายแท้จริงเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ