คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8721/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กำหนดระยะเวลา 1 เดือนต้องคำนวณตามปีปฏิทิน และถ้าไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 และเดือนกุมภาพันธ์ 2544 มีเพียง 28 วัน จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544

จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 30 มีนาคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำขอ วันที่ 30 มีนาคม 2544 จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ต่อมาศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 กำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หนึ่งเดือนเริ่มนับหนึ่งวันที่ 31 มกราคม 2544 แต่ไม่มีวันตรงกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 วันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 จะยื่นอุทธรณ์หรือขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลตรวจสำนวนแล้ว จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 พ้นกำหนดแล้ว ที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มานั้นจึงเป็นการผิดหลงให้เพิกถอนเสีย และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2544 มานั้น ก็ถือว่าเป็นการผิดหลง ให้เพิกถอนเสียเช่นเดียวกัน แล้วมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปชอบแล้ว ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ฟังเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 1มีนาคม 2544 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2544 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ตามคำขอ จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ต่อมาศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ล่วงเลยกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว เหตุที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างว่าระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายกำหนดต้องยื่นภายใน 1 เดือน เท่ากับ 30 วัน นับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา และเจ้าหน้าที่ของศาลยังพิมพ์คำพิพากษาไม่แล้วเสร็จถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษนั้น เห็นว่า กำหนดระยะเวลา 1 เดือน ต้องคำนวณตามปีปฏิทิน และถ้าไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้ายก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ฟังเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 และเดือนกุมภาพันธ์ 2544 มีเพียง 28 วันจำเลยที่ 3 ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 หากจำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ทัน จำเลยที่ 3 ต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ส่วนที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 1 มีนาคม 2544 โดยไม่มีเหตุสุดวิสัยทั้งได้ความว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นวันพุธมิใช่วันหยุดราชการ แต่อย่างใด จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share