คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องก่อสร้างทางขึ้นที่จอดรถอาคารพิพาทมีความสูง 2.03 เมตร แม้จะไม่ได้ระยะความสูงตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ.2521 ที่กำหนดให้ระยะดิ่งระหว่างพื้นดินถึงส่วนต่ำสุดของคานหรือเพดานหรือสิ่งอื่นที่ติดกับคานหรือเพดานต้องไม่น้อยกว่า 2.10 เมตร แต่ได้รับยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทางขึ้นที่จอดรถที่ผู้ร้องก่อสร้างจึงถูกต้องตามกฎหมาย การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่หยิบยกกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย แล้วชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากอนุญาโตตุลาการนำข้อกฎหมายมาประกอบการวินิจฉัยด้วย ก็จะปรากฏให้เห็นได้ว่าการก่อสร้างของผู้ร้องมิได้เป็นความผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ร้องไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ผู้ร้องอุทธรณ์ในทำนองว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ปัญหานี้แม้ผู้ร้องไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องก็สามารถยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นศาลได้ ผู้ร้องจึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับทางขึ้นที่จอดรถและที่ให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่
(1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ฯลฯ
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องก่อสร้างทางขึ้นที่จอดรถอาคารพิพาทมีความสูง 2.03 เมตร แม้จะไม่ได้ระยะความสูงตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ.2521 ที่กำหนดให้ระยะดิ่งระหว่างพื้นดินถึงส่วนต่ำสุดของคานหรือเพดานหรือสิ่งอื่นที่ติดกับคานหรือเพดานต้องไม่น้อยกว่า 2.10 เมตร แต่ได้รับยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทางขึ้นที่จอดรถที่ผู้ร้องก่อสร้างจึงถูกต้องตามกฎหมาย การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่หยิบยกกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย แล้วชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากอนุญาโตตุลาการนำข้อกฎหมายมาประกอบการวินิจฉัยด้วย ก็จะปรากฏให้เห็นได้ว่าการก่อสร้างของผู้ร้องมิได้เป็นความผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านก็ไม่จำต้องรื้อถอนอาคารจอดรถยนต์ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานและไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งผู้ร้องไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ผู้ร้องอุทธรณ์ในทำนองว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ปัญหานี้แม้ผู้ร้องจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องก็สามารถยกขึ้นอ้างเป็นประเด็นพิพาทในชั้นศาลได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า การก่อสร้างทางขึ้นที่จอดรถของผู้ร้องถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ.2521 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 แต่ในบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 79 ได้บัญญัติให้บรรดากฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด กฎ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่งซึ่งได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ให้คงใช้บังคับได้ต่อไป ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ มีผลให้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับ มิได้ถูกยกเลิกไปด้วย ซึ่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวข้อ 13 บัญญัติว่า “ระยะดิ่งระหว่างพื้นดินถึงส่วนต่ำสุดของคานหรือเพดานหรือสิ่งอื่นที่ติดกับคานหรือเพดานต้องไม่น้อยกว่า 2.10 เมตร” อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับแก่อาคารจอดรถยนต์ทุกอาคารในกรุงเทพมหานคร โดยมีเจตนารมณ์เพื่อความปลอดภัยของสาธารณชนที่มาใช้อาคารจอดรถยนต์ การที่ผู้ร้องก่อสร้างทางขึ้นที่จอดรถโดยมีระยะดิ่ง 2.03 เมตร ซึ่งมีระยะน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมิอาจอ้างกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ข้างต้น ข้อ (2) (ก) ที่บัญญัติยกเว้นให้สัดส่วนโครงสร้างของอาคารผิดไปจากแบบแปลนหรือรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตไม่เกินร้อยละห้าให้สามารถกระทำได้นั้น อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปมาเป็นข้อยกเว้นกฎหมายเฉพาะดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share