คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคาร ธนาคารหรือโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้นำไปหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่ธนาคารหรือโจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับธนาคารเป็นสถาบันการเงินอันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อว่าธนาคารหรือโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นเป็นการกระทำการที่ตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของสถาบันการเงิน รวมตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ได้ทำสัญญารับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เป็นผลให้สิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบ และสิทธิเรียกร้องต่างๆ ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักประกันของสินทรัพย์ดังกล่าวที่มีต่อธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตกแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินไปจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาสงขลา เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงได้ ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 4,700 บาท หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนด ไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ทั้งหมดคืนในทันที โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 9352 ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันวงเงิน 200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วน จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้รวมทั้งหนี้อื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาจำเลยผ่อนชำระเงินต้นให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เพียง 40,238.97 บาท ค้างชำระต้นเงิน 159,761.03 บาท ธนาคารจึงคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 159,761.03 บาท จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หยุดทำธุรกรรมตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 จากต้นเงิน 159,761.03 บาท ในอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 165,385.82 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 325,146.85 บาท โจทก์แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องบอกกล่าวทวงถามและให้ไถ่ถอนจำนองที่ดินโดยทางไปรษณีย์ตอบรับจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 325,146.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงิน 159,761.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 9352 ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ (ที่ถูกขาดนัดพิจารณาด้วย)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2538 จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2539 รวมเป็นเงิน 96,100 บาท ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 200,000 บาท มีเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 4,700 บาท วันที่ 30 เมษายน 2540 จำนวน 5,000 บาท วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 จำนวน 10,100 บาท วันที่ 1 กันยายน 2540 จำนวน 5,000 บาท วันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำนวน 4,700 บาท วันที่ 29 ธันวาคม 2540 จำนวน 4,700 บาท วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 5,200 บาท และวันที่ 30 เมษายน 2541 จำนวน 4,700 บาท มาหักชำระในวันที่จำเลยที่ 1 นำมาชำระแต่ละครั้งโดยนำไปหักดอกเบี้ยค้างชำระก่อน หากมีเงินเหลือจึงให้นำไปหักต้นเงิน หากจำเลยทั้งสองไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 9352 ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ไม่เกินทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาของโจทก์ว่า “สำเนาให้อีกฝ่ายพร้อมสำเนาอุทธรณ์จะคัดค้านประการใดให้แถลงเข้ามาภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ มิฉะนั้น ไม่ถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน” และมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า “รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์… ส่วนจะส่งไปศาลฎีกาหรือไม่ให้รอคำคัดค้านหรือคำแก้อุทธรณ์ก่อน” ต่อมาเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์แล้วไม่คัดค้านและไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งอนุญาตแต่สั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่ารวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว คดีมีปัญหาวินัจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่ศาลชั้นต้นให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่ธนาคารในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 รวมเป็นเงิน 64,100 บาท มาหักชำระในวันที่จำเลยที่ 1 นำมาชำระแต่ละครั้งโดยให้นำไปหักดอกเบี้ยค้างชำระก่อน หากมีเงินเหลือจึงให้นำไปหักต้นเงินเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เงินที่จำเลยที่ 1 ชำระมาเป็นการชำระด้วยความสมัครใจเท่ากับเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีผลผูกพันต้องชำระ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระดังกล่าว มาหักจากต้นเงินและดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า ผู้ที่โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ สิทธิจำนองหรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันให้แก่โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารผู้โอนสิทธิเรียกร้องจึงย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดีส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่า จำเลยที่ 1 จะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าวแต่ประการใด ดังนั้น ลำพังการที่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคาร แล้วธนาคารหรือโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่ธนาคารหรือโจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเองประกอบกับธนาคารเป็นสถาบันการเงินอันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อว่าธนาคารหรือโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นเป็นการกระทำการอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวชำระมาหักจากต้นเงินและดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share