คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทหากศาลล่างลงโทษจำเลยมาทุกบท ศาลฎีกาก็พิพากษาแก้ลงบทที่มีโทษหนักที่สุดให้ถูกต้องได้
หากบทกฎหมายที่จำเลยกระทำผิดกรรมเดียวมีอัตราโทษหนักที่สุดเท่ากันอยู่ 2 บท ศาลก็ลงโทษจำเลยตามบทหนึ่งบทใดในสองบทนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2504 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจตัดฟันไม้เต็งและไม้อื่น ๆ อีกหลายต้นอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และ ข. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2497 คิดเป็นไม้หลายต้น ปริมาตรเนื้อไม้ไม่ปรากฏชัด เพราะจำเลยเผาไปหมด โดยมิได้รับอนุญาต และตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยแผ้วถามป่าในที่ซึ่งจำเลยตัดฟันไม้จำนวน 2 ไร่ อันเป็นการทำลายป่าโดยไม่รับอนุญาต และจำเลยบังอาจยึดถือครอบครองที่ดินที่จำเลยก่นสร้างนั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 54, 72 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6, 14 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 11, 16, 17 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2497 ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 กับขอให้สั่งจำเลยออกจากที่ดินรายนี้ด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิพากษาว่า จำเลยผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์กล่าวในฟ้องวางโทษจำคุก 6 เดือน ลดให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 และเห็นสมควรบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 จำคุกไว้ 45 วัน กับให้จำเลยออกจากที่รายนี้

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โดยไม่ปรากฏจำนวนเนื้อไม้ที่จำเลยตัดฟัน ไม้เล็กหรือไม่ใหญ่ และไม้อื่น ๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นไม้อะไร และเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นไม้เล็กหรือไม้ใหญ่แล้ว ก็ไม่รู้ว่าไม้ที่จำเลยตัดนั้นเป็นไม้ในป่าหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในฟ้องของโจทก์กล่าวไว้แล้วว่าไม้ที่จำเลยตัดฟันจำเลยเผาไปหมดแล้ว ซึ่งแสดงว่าโจทก์ไม่สามารถทราบจำนวนปริมาตรเนื้อไม้และจำนวนต้นไม้ ฉะนั้น ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องเท่าที่โจทก์สามารถรู้ได้ จึงเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดเพียงพอเป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว ไม่เคลือบคลุม และตามคำฟ้องก็แสดงไว้ชัดแล้วว่าจำเลยตัดไม้ในป่า ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าได้คัดสำเนากฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามประกาศไว้ในที่ต่าง ๆ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ จึงเป็นฟ้องไม่สมบูรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีดังที่จำเลยอ้างนั้น มิใช่เป็นองค์ความผิด โจทก์ไม่จำเป็นต้องกล่าวในฟ้อง ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้าง

(อ้างฎีกาที่ 759/2503)

แต่ตามฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดตามกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 บัญญัติให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำผิด ฉะนั้น ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษแก่จำเลยมาทุกบทไม่ชอบกรณีนี้ บทกฎหมายที่จำเลยกระทำผิดมีอยู่ 2 บท ที่มีอัตราโทษเท่ากัน ฉะนั้น ศาลจึงลงโทษแก่จำเลยตามบทหนึ่งบทใดในสองบทนั้นตามความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 54 พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 11, 16 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share