คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8696/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายที่จำเลยยังคงครอบครองรถแท็กซี่ของโจทก์ ทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้จะเรียกวันละ 400 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับค่าเช่า แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระ กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถแท็กซี่ หมายเลขทะเบียน 7ท – 3462 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ตกลงชำระค่าเช่าวันละ 400 บาท ครบกำหนดสัญญาวันที่ 22 สิงหาคม 2543 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ เมื่อสัญญาเช่าเลิกกันแล้วจำเลยที่ 1 ยังครอบครองใช้รถแท็กซี่ของโจทก์เรื่อยมา ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 โจทก์ติดตามยึดรถแท็กซี่คืนได้ ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถแท็กซี่เป็นเงิน 153,400 บาท และต้องทดรองจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระแก่โจทก์ตามสัญญาอีกจำนวน 2,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 155,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 106,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ 106,550 บาท ต้องห้ามตามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7ท – 3462 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 ในอัตราค่าเช่าวันละ 400 บาท ครบกำหนดสัญญา วันที่ 22 สิงหาคม 2540 หากจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดสัญญาเช่าสิ้นสุดลงทันที จำเลยที่ 1 ต้องนำรถมาคืนให้แก่โจทก์ หรือโจทก์มีสิทธิเข้าครอบครองรถทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตามสัญญาโดยชำระค่าเช่าเพียงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 แต่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถแท็กซี่ที่เช่าเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 โจทก์ติดตามยึดรถแท็กซี่คืนได้ สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์รถแท็กซี่เรียกเอาค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 เป็นต้นมา เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 จึงเกินกว่าสองปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถแท็กซี่ของโจทก์ ทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินที่เช่าออกให้เช่าโดยอาศัยเหตุมาจากการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แม้จะเรียกวันละ 400 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับค่าเช่า แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระ กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ คดีจึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 ซึ่งเมื่อนับจากวันเลิกสัญญาเช่าวันที่ 24 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share