แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย แม้คำสั่งศาลที่แต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีผลต่อไปก็ตาม แต่ความรับผิดของผู้จัดการมรดกอันเกิดจากการจัดการมรดกมิชอบ มิใช่เป็นการเฉพาะตัวจึงย่อมตกทอดแก่ทายาท
นอกจาก ผ. จะลงลายมือชื่อในการทำพินัยกรรมแล้ว ผ. ยังได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ด้วย โดยมีลายมือชื่อพยานสองคน และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พยานในพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือในขณะเดียวกันมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานในพินัยกรรมทั้งสองคนเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นพยานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1670 เมื่อ ผ. ลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ช. และ ห. และ ช. กับ ห. ลงลายมือชื่อรับรองไว้ขณะทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1665 พินัยกรรมจึงถูกต้องตามแบบและสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตามลำดับ เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมของนางผ่องฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2537 ตกเป็นโมฆะ และให้จำเลยแบ่งที่ดินมรดกส่วนที่เป็นของนางผ่องกึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 970, 124166 ถึง 124168 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่ดินโฉนดเลขที่ 47284 และ 47285 ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 คนละหนึ่งในสิบสองส่วน หากไม่สามารถแบ่งแยกได้ ให้นำที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตามส่วนที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มีสิทธิได้รับ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมของนางผ่อง ฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2537 ข้อ 1 เฉพาะการยกให้ที่ดินส่วนที่เป็นของบุตรทั้งสิบสองคนของนายคลิ้ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยอุทธรณ์
ในชั้นตรวจรับอุทธรณ์ จำเลยถึงแก่ความตาย นางสาวทัศนีย์ บุตรผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยพร้อมยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นางสาวทัศนีย์เป็นคู่ความแทนที่จำเลยและรับอุทธรณ์ของจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า สิทธิในการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวจึงไม่อนุญาตให้นางสาวทัศนีย์เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการหาทายาทนางผ่องหรือผู้จัดการมรดกนางผ่องคนใหม่มาเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายธีระชัย บุตรนางผ่องเป็นคู่ความแทนที่จำเลย
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ถึงแก่ความตาย นายสมควร ผู้จัดการมรดกโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 3 นางรวิพิมพ์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งอนุญาต และให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่ไม่รับนางสาวทัศนีย์ เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย เป็นให้บังคับตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้นางสาวทัศนีย์เป็นคู่ความแทนที่จำเลย และเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายธีระชัย เป็นคู่ความแทนที่จำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2537 ของนางผ่อง ตามฟ้องไม่มีผลบังคับ ให้นางสาวทัศนีย์ คู่ความแทนที่จำเลย แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 970 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ดินโฉนดเลขที่ 47284 และ 47285 ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ครึ่งหนึ่งส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางผ่อง ให้โจทก์ทั้งเจ็ดคนละ 1 ใน 12 ส่วน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินทรัพย์มรดกของจำเลยที่ตกทอดได้แก่ตน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งเจ็ด โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 30,000 บาท
โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยบิดาชื่อนายคลิ้ง มารดาชื่อนางผ่อง โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของร้อยเอกสมิทธิ์ ซึ่งเป็นบุตรของนายคลิ้งกับนางผ่อง โจทก์ที่ 5 เป็นบุตรของนางอุไร ซึ่งเป็นบุตรของนายคลิ้งกับนางผ่อง นายคลิ้งกับนางผ่องมีบุตรด้วยกัน 12 คน นายคลิ้งถึงแก่ความตายเมื่อปี 2527 ส่วนนางผ่องถึงแก่ความตายเมื่อปี 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางผ่องตามพินัยกรรม พินัยกรรมดังกล่าวมีทั้งลายพิมพ์นิ้วมือของนางผ่องและลายมือชื่อของนางผ่อง
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้นางสาวทัศนีย์ บุตรจำเลยเป็นคู่ความแทนจำเลยชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายธีระชัย บุตรนางผ่องเป็นคู่ความแทนที่จำเลยแล้ว ไม่ควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะอนุญาตให้นางสาวทัศนีย์เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยอีก ส่วนจำเลยฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยของนางสาวทัศนีย์แล้วก็ไม่ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยใหม่ เพราะหากไม่มีบุคคลใดเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ตามกฎหมายให้ถือว่าคดีดังกล่าวสิ้นสุด ถือเสมือนไม่มีการฟ้องร้อง เห็นว่า เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย แม้คำสั่งศาลที่แต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีผลต่อไปก็ตาม แต่ความรับผิดของผู้จัดการมรดกอันเกิดจากการจัดการมรดกมิชอบ มิใช่เป็นการเฉพาะตัวจึงย่อมตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้นางสาวทัศนีย์เป็นคู่ความแทนที่จำเลยจึงชอบแล้ว และชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะดำเนินคดีต่อไป ฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า พินัยกรรมพิพาทเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2537 เป็นพินัยกรรมปลอม ขณะทำพินัยกรรมนางผ่องเป็นโรคหูหนวก ตาฝ้าฟางไม่เห็นตัวอักษร สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ นางผ่องไม่สามารถลงลายมือชื่อด้วยตนเองได้ ลายมือชื่อในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอม นางผ่องพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือขณะที่ไม่รู้สึกตัวและมีผู้จับมือนางผ่องจุ่มน้ำหมึกแล้วมากดลงในพินัยกรรม ส่วนจำเลยนำสืบโต้แย้งว่า ขณะทำพินัยกรรมนางผ่องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี นางผ่องสามารถลงลายมือชื่อได้ ซึ่งตามพินัยกรรมนางผ่องลงลายมือชื่อรวมทั้งได้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ด้วย พินัยกรรมเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เห็นว่า ในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรมของนางผ่อง ผู้เชี่ยวชาญของศาลมีความเห็นว่า ไม่อาจตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลงความเห็นให้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดได้ การวินิจฉัยว่าพินัยกรรมสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องอาศัยพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเข้ามาในสำนวนความ ตามลายมือชื่อของนางผ่องที่ปรากฏในเอกสารมีทั้งส่วนที่นางผ่องลงลายมือชื่อเพียงอย่างเดียวและมีทั้งนางผ่องลงลายมือชื่อและชื่อสกุล ส่วนตามพินัยกรรมมีทั้งลายมือชื่อและชื่อสกุลของนางผ่อง การพิจารณาว่าลายมือชื่อและชื่อสกุลของนางผ่องเป็นการลงลายมือชื่อและชื่อสกุลของนางผ่องที่แท้จริงหรือไม่ ควรจะต้องพิจารณาจากเอกสารต่าง ๆ ที่นางผ่องได้ลงลายมือชื่อและชื่อสกุลไว้ประกอบกัน ซึ่งเอกสารที่สำคัญนางผ่องจะลงทั้งลายมือชื่อและชื่อสกุลเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะการเขียนแม้จะแตกต่างกันบ้างแต่ส่วนใหญ่แล้วคล้ายคลึงกัน เมื่อนำลายมือชื่อและชื่อสกุลที่ปรากฏตามพินัยกรรม มาเปรียบเทียบกันแล้วก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ ลักษณะการเขียนทั้งตัวอักษรลายมือชื่อและชื่อสกุลไม่ติดกัน ที่โจทก์อ้างว่านางผ่องเป็นคนหูหนวก ตาฝ้าฟางไม่เห็นตัวอักษร สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ไม่อาจลงลายมือชื่อด้วยตนเองได้นั้น เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 414/2534 ที่นายประจวบ ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายคลิ้ง ผู้ตาย โดยมีนางสาวปราณี เป็นผู้คัดค้านนั้น นางผ่องได้มาเบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 ตามคำให้การ ซึ่งในคำเบิกความดังกล่าว นางผ่องสามารถเบิกความในสาระสำคัญเกี่ยวกับครอบครัวของนางผ่องเอง ตลอดจนทรัพย์สินของตนเองและของนายคลิ้งได้ ไม่ปรากฏว่าเลอะเลือนหรือมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์แต่ประการใด เมื่อต่อมานางผ่องทำพินัยกรรม หลังจากเบิกความในคดีดังกล่าวเพียงสองเดือนเศษ ซึ่งจำเลยและนางเพ็ญศรีก็เบิกความว่าลายมือชื่อในพินัยกรรมและลายพิมพ์นิ้วมือเป็นของนางผ่อง จึงไม่น่าเชื่อว่าขณะทำพินัยกรรมนางผ่องจะมีอาการเลอะเลือน ตาฝ้าฟางไม่เห็นตัวอักษร หรือมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ตามข้ออ้างของโจทก์ทั้งเจ็ดแต่ประการใด ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า นอกจากนางผ่องจะลงลายมือชื่อในการทำพินัยกรรมแล้วนางผ่องยังได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ด้วย โดยโจทก์อ้างว่านางผ่องถูกกดลายพิมพ์นิ้วมือและไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือนั้น ก็ปรากฏว่าพินัยกรรมมีลายมือชื่อพยานสองคน และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พยานในพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือในขณะเดียวกันมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานในพินัยกรรมทั้งสองคนเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นพยานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1670 นายโชติ ซึ่งเป็นผู้อ่านพินัยกรรมให้นางผ่องฟังได้เบิกความไว้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 90/2542 หมายเลขแดงที่ 321/2542 ว่า นายห้วน เป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมตามข้อความที่นางผ่องต้องการ พยานอ่านข้อความในพินัยกรรมให้นางผ่องฟัง นางผ่องรับว่าถูกต้องจึงได้พิมพ์ลายนิ้วมือข้างขวา และเนื่องจากลายพิมพ์นิ้วมือไม่ชัดเจน นางผ่องจึงได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย ขณะทำพินัยกรรมนางผ่องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พูดจารู้เรื่อง ขณะนี้นายห้วนได้เสียชีวิตไปแล้ว นายโชติมีอาชีพทนายความและเป็นเทศมนตรีไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด น่าเชื่อว่านางผ่องลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้านายโชติ และนายห้วน และนายโชติกับนายห้วนลงลายมือชื่อรับรองไว้ขณะทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1665 พินัยกรรมจึงถูกต้องตามแบบและสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท แต่โจทก์ทั้งเจ็ดเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 46,862.50 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ