คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8680/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือ โจทก์และจำเลย และเกิดมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเงินของห้าง โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยไม่ได้นำเงินค่าเวนคืนที่ดินที่ห้างได้รับจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในงวดที่ 3 ลงบัญชีเป็นรายรับของห้าง โจทก์จึงฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดฯและยักยอกทรัพย์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แม้คดีที่โจทก์ฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง และห้างยังมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ไว้วางใจกัน มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเงินของห้างจนถึงขั้นฟ้องร้องกล่าวหากันเป็นคดีอาญาไม่ปรองดองกัน หากจะเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการก็ไม่มีทางทำได้ เพราะมีจำเลยคนเดียวที่เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จึงมีเหตุทำให้ห้างเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3) ประกอบมาตรา 1080 ศาลย่อมพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันเสียได้
เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายขอให้เลิกห้าง อันเป็นการเลิกสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยได้โดยตรง โดยไม่จำต้องฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เป็นจำเลยด้วย
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 คน โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดกับจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่เนื่องจากโจทก์กับจำเลยไม่ไว้วางใจกัน และมีกรณีพิพาทขัดแย้งกันอยู่ หากตั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือให้ร่วมกันเป็นผู้ชำระบัญชีคงไม่ร่วมมือกัน และเป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีแน่นอน จึงสมควรตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนา และตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชี กับบังคับให้จำเลยส่งมอบสมุดบัญชีและทรัพย์สินทั้งหมดของห้างที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยแก่โจทก์ในฐานะผู้ชำระบัญชี
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อย่างไรก็ตามถ้าศาลมีคำสั่งให้ชำระบัญชีห้าง จำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 ส่วนโจทก์มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเนื่องจากมีอายุมากถึง 73 ปี และเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่หากศาลจะตั้งผู้ชำระบัญชีจากบุคคลภายนอก ก็ขอให้ตั้งอธิบดีกรมบังคับคดีหรือผู้แทนเป็นผู้ชำระบัญชี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงว่า เงินค่าเวนคืนที่ดินครั้งที่สาม จำนวน 46,711,573.33 บาท ได้มีการนำไปเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักงานที่ดินธานีพัฒนา ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2536 แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนา เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วนสองคน คือ โจทก์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดกับจำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกห้างไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยคัดค้าน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า มีเหตุเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ปรากฏว่าศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง และขณะนี้ห้างมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมากมีมูลค่าประมาณ 1,000,000,000 บาท ห้างจึงดำรงคงอยู่ต่อไปได้นั้น เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักงานที่ดินธานีพัฒนา มีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงสองคน คือ โจทก์และจำเลย และเกิดมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเงินของห้าง โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยไม่ได้นำเงินค่าเวนคืนที่ดินที่ห้างได้รับจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในงวดที่สาม จำนวน 46,711,573.33 บาท ลงบัญชีเป็นรายรับของห้าง โจทก์จึงฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ และยักยอกทรัพย์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แม้คดีที่โจทก์ฟ้องนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้องและห้างยังมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ไว้วางใจกัน มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเงินของห้างจนถึงขั้นฟ้องร้องกล่าวหากันเป็นคดีอาญา ไม่ปรองดองกัน หากจะเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการก็ไม่มีทางทำได้เพราะมีจำเลยคนเดียวที่เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จึงมีเหตุทำให้ห้างเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (3) ประกอบมาตรา 1080 ศาลย่อมพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้เลิกกันเสียได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยเหตุเลิกห้างกรณีผู้เป็นหุ้นส่วนบอกเลิกเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีของห้าง รวมทั้งปัญหาว่าโจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะบอกเลิกห้างเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีของห้างตามฎีกาของจำเลยได้หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์ไม่มีเจตนาเลิกห้างนั้น เห็นว่า โจทก์มีหนังสือบอกเลิกห้างไปยังจำเลย แสดงว่าโจทก์มีเจตนาเลิกห้างกับจำเลยแล้ว แม้โจทก์จะรับโอนหุ้นในส่วนของนายจตุรพรหุ้นส่วนคนก่อนที่ลาออกไปจำนวน 500,000 บาท เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2542 ก็เป็นการรับโอนหุ้นก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกห้าง จะถือว่าโจทก์ไม่มีเจตนาเลิกห้างหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เคยมีหนังสือถึงจำเลยลงวันที่ 16 ธันวาคม 2542 ตามเอกสารแนบท้ายคำแถลงคัดค้านของจำเลยลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 ยินยอมให้จำเลยนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทนโจทก์ จำเลยจึงนำนายมีชัยเข้ามาเป็นหุ้นส่วนคนใหม่แทนโจทก์ได้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่านายมีชัยได้ตกลงเจรจากับโจทก์ ทั้งตามหนังสือที่โจทก์มีไปถึงจำเลยดังกล่าวโจทก์ระบุชัดว่ายังมีความประสงค์จะเลิกห้างอยู่และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยิ่งแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า โจทก์มีเจตนาเลิกห้างกับจำเลยหาใช่ไม่มีเจตนาเลิกห้างดังที่จำเลยฎีกาไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ต้องฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนาเป็นจำเลยด้วยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนาเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายขอให้เลิกห้างอันเป็นการเลิกสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยได้โดยตรง โดยไม่จำต้องฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนาเป็นจำเลยด้วย
ส่วนปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า สมควรตั้งผู้ใดเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างนั้น เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนามีผู้เป็นหุ้นส่วนสองคน คือ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด กับจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่เนื่องจากโจทก์กับจำเลยไม่ไว้วางใจกัน และมีกรณีพิพาทขัดแย้งกันอยู่ หากตั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือให้ร่วมกันเป็นผู้ชำระบัญชี คงไม่ร่วมมือกันและเป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีแน่นอน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักงานที่ดินธานีพัฒนานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย สรุปแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share