คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5529/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งจำนวนเงินส่วนหนึ่งในเช็คเป็นการชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมายและจำนวนเงินอีกส่วนหนึ่งเป็นการชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ต้องห้ามตามกฎหมายซึ่งไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยในเช็คฉบับเดียวกันและไม่อาจแบ่งแยกกันได้การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย ลงวันที่30 กรกฎาคม 2536 จำนวนเงิน 2,013,793 บาท เพื่อชำระหนี้เงินยืมที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแก่โจทก์ เช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้ จำเลยออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่า ในระหว่างเดือนเมษายน 2534 ถึงเดือนมิถุนายน 2535จำเลยได้ออกเช็คมอบให้โจทก์รวม 9 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.10รวมเป็นเงิน 1,550,700 บาท ต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 จำเลยได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 มอบแก่โจทก์ ในวันที่30 กรกฎาคม 2536 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องการกู้ยืมและจำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์นั้น โจทก์เบิกความว่าเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2534 จำเลยนำเช็ค 2 ฉบับมาแลกเงินสดจากโจทก์เมื่อจะถึงวันครบกำหนดจำเลยบอกว่าอย่าเพิ่งนำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเพราะจำเลยไม่มีเงิน ต่อมาเดือนเมษายน 2534 จำเลยขอกู้ยืมเงินโจทก์อีกแล้วออกเช็คให้ไว้ หลังจากนั้นจนถึงปี 2535จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์โดยออกเช็คให้เป็นหลักฐานรวม 9 ครั้งตามเอกสารหมาย จ.10 รวมเป็นเงิน 1,550,700 บาท ต่อมากลางปี 2535โจทก์ตรวจยอดเงินในงานรับเหมาสร้างบ้านปรากฏว่า จำเลยได้เบิกเงินเกินเนื้องาน โจทก์จึงทวงให้จำเลยชำระหนี้ ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2535จำเลยได้มาตกลงคิดบัญชีหนี้สินกับโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้เงินต้นทั้งหมด 1,550,700 บาท จำเลยขอผัดชำระหนี้ดังกล่าวไปอีก1 ปี โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยในหนี้เงินดังกล่าวเป็นเวลาอีก 1 ปีในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 463,093 บาท ตามรายการจำนวนหนี้เอกสารหมาย จ.12 รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 2,013,793 บาทหลังจากตกลงกันดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ให้โจทก์พิมพ์รายการลงในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 และในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ตามที่ตกลงกันแล้ว จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทและในสัญญากู้ดังนั้น ยอดเงินกู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.1 และจำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 จำนวน 2,013,793 บาท จึงเป็นจำนวนเงินต้นตามจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.10 รวม 9 ฉบับเป็นเงิน 1,550,700 บาท กับดอกเบี้ยซึ่งโจทก์คิดในอัตราร้อยละ15 ต่อปี รวมต้นเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.10 แต่ละฉบับนับแต่วันที่สั่งจ่ายในเช็คแต่ละฉบับจนถึงวันที่ทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของเงินต้นตามเช็คเอกสารหมาย จ.10แต่ละฉบับนับแต่วันที่ทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นต้นไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งโจทก์คิดถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 อันเป็นวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 รวมเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น463,093 บาท จึงเป็นยอดรวมของเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมด 2,013,793บาท ตรงกับยอดเงินต้นในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 การที่โจทก์คิดเป็นยอดเงินต้นจำนวนดังกล่าวในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 นั้น จึงเป็นการคิดเอาดอกเบี้ยจากเช็คเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งมีจำนวนแรกตามเช็ค2 ฉบับ สั่งจ่ายวันที่ 29 เมษายน 2534 รวมเงิน 150,000 บาทคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 เป็นเวลาปีเศษ จำนวนที่ 2ตามเช็ค 1 ฉบับ สั่งจ่ายวันที่ 15 พฤษภาคม 2534 เป็นเงิน 200,000บาท คิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 เป็นเวลาปีเศษจำนวนที่ 3 ตามเช็ค 4 ฉบับ สั่งจ่ายวันที่ 8 วันที่ 20วันที่ 21 และวันที่ 29 มิถุนายน 2534 รวมเป็นเงิน 784,500 บาทคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 เป็นเวลาปีเศษ จำนวนที่ 4ตามเช็คสั่งจ่ายวันที่ 11 กรกฎาคม 2534 เป็นเงิน 206,200 บาทคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 เป็นเวลาปีเศษ และจำนวนที่ 5ตามเช็คสั่งจ่ายวันที่ 15 มิถุนายน 2535 เป็นเงิน 210,000 บาทคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 เป็นเวลา 1 เดือนเศษซึ่งดอกเบี้ยจำนวนแรกถึงจำนวนที่ 4 นั้น ค้างชำระมาแล้วไม่น้อยกว่า1 ปี จึงนำมาทบเป็นเงินต้นได้ แต่จำนวนที่ 5 เป็นการนำเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระน้อยกว่าปีหนึ่งนำมาคิดเป็นต้นเงิน กับการที่เอาดอกเบี้ยซึ่งคิดจากวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นต้นไปอีก 1 ปี มารวมเป็นเงินต้นอีกด้วยนั้นข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบจึงเป็นการเอาดอกเบี้ยมาทบต้นตั้งแต่แรกกู้ยืมเงินโดยยังไม่ค้างชำระเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 655แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้กู้ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้จากเงินต้นดังกล่าวตามสัญญาข้อ 2 ในเอกสารหมาย จ.1ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเงินส่วนหนึ่งในเช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และจำนวนเงินอีกส่วนหนึ่งเป็นการชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ต้องห้ามตามกฎหมายซึ่งไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยในเช็คพิพาทฉบับเดียวกันและไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share