คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 38 ที่บัญญัติว่า “ถ้าการบอกเลิกการเช่านาตามมาตรา 35 มาตรา 36 หรือมาตรา 37 มีผลเมื่อผู้เช่านาได้ลงมือทำประโยชน์ในนาแล้วให้ผู้เช่านามีสิทธิในนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยวแล้วแต่ต้องเสียค่าเช่านาตามส่วน” นั้นคำว่า “ในนา” หมายถึงนาเฉพาะส่วนที่ผู้เช่านาได้ลงมือทำประโยชน์ไปแล้วเท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงส่วนที่ยังมิได้ลงมือทำประโยชน์ด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่านาจำเลย ๖๐ ไร่ ต่อมาพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ประกาศใช้บังคับ เป็นผลให้โจทก์มีสิทธิที่จะทำนาที่เช่าต่อไปไม่น้อยกว่า ๖ ปี นับแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นไป ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าโดยอ้างว่า โจทก์นำนาไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง ในที่สุดคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดลพบุรีได้มีมติให้โจทก์คืนนาที่เช่าแก่จำเลย ขณะที่โจทก์ทราบมติของคณะกรรมการดังกล่าวโจทก์ได้ทำนาไปแล้วมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ แล้วจำเลยขัดขวางไม่ให้โจทก์ทำนาในเนื้อที่ส่วนที่เหลืออีก ๕๐ ไร่ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยไม่ให้โจทก์เข้าทำนาส่วนที่เหลืออีก ๕๐ ไร่ โดยจำเลยได้เข้าทำนาเสียเองนั้นเป็นไปตามมติของคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดลพบุรีโดยสุจริต ไม่เป็นการละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า คำว่า “ในนา” ในมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น หมายความถึงนาที่เช่าทั้งหมด เมื่อโจทก์ได้ปักดำข้าวกล้าไปแล้วจำนวน ๑๐ ไร่ อันถือว่าลงมือทำประโยชน์ในนาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำนาพิพาทต่อไปในเนื้อที่ที่เหลืออีก ๕๐ ไร่
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าคำว่า “ในนา” ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๓๘ นั้น หมายถึงเฉพาะส่วนที่ผู้เช่านาได้ลงมือทำประโยชน์ไปแล้วเท่านั้น หาได้หมายรวมถึงส่วนที่ยังมิได้ลงมือทำประโยชน์ด้วยไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยห้ามปรามขัดขวางมิให้โจทก์เข้าทำนาพิพาทในส่วนที่เหลือ ๕๐ ไร่ จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์
พิพากษายืน

Share