คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทที่มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญนั้น จะฟ้องร้องผู้กู้ให้บังคับคดีไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้หมายความเลยไปว่าหนี้แห่งการกู้ยืมจะเป็นโมฆะไปด้วย ยังคงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ที่อาจมีการค้ำประกันกันได้ตามมาตรา 681
การที่ผู้กู้เป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันทำให้ไว้แก้ผู้ให้กู้ มีข้อความแสดงว่าผู้กู้เป็นผู้กู้เงินของผู้ให้กู้ไป และผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เขียนด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามความหมายของมาตรา 653 แล็ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๐๔ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป ๖,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ถึงกำหนดทวงถามแล้วก็ไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ ๑,๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ให้กู้เงิน และไม่ได้ทำสัญญากู้ให้แก่โจทก์ ความจริงมีว่า จำเลยที่ ๑ จะขอกู้เงินโจทก์ ๖,๐๐๐ บาท โดยจะให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยที่ ๒ ติดธุระจึงลงชื่อในสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ยึดถือไว้ก่อน โดยที่ยังมิได้มีการกู้เงินกัน แล้วโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ออกจากบ้านจำเลยที่ ๒ ไป โดยโจทก์อ้างว่าต้องไปเอาเงินจากผู้มีชื่อมาให้จำเลยที่ ๑ กู้ ไปถึงบ้านผู้มีชื่อ โจทก์บอกว่ายังเอาเงินไม่ได้ โจทก์ขอผัดจะนำเงินกู้มาให้จำเลยที่ ๑ ในวันหลัง จำเลยที่ ๑ จึงไม่ยอมลงชื่อในสัญญากู้ต่อมาโจทก์ขอผัดเรื่อย ๆ ในที่สุดก็มิได้มีการกู้กัน จำเลยที่ ๒ เคยขอสัญญาค้ำประกันคืน แต่โจทก์บอกว่า สัญญาค้ำประกันไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้มีการกู้เงิน ทั้งโจทก์ฉีกแล้ว เมื่อไม่มีการกู้เงินกัน สัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ก็ไร้ผล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีสอบถามโจทก์จำเลยแล้ว มีคำสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องเป็นการกู้ยืมเงินกว่า ๕๐ บาท จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ยืมไว้ จำฟ้องร้องให้บังคับจำเลยที่ ๑ รับผิดใช้เงินไม่ได้ตามประมวบกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้จะลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันก็ตาม เมื่อหนี้ที่โจทก์อ้างและจำเลยที่ ๒ ค้ำประกันนั้นไม่มีทางบังคับเอาจากจำเลยที่ ๑ ได้แล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ลงนามเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ แต่จำเลยที่ ๑ ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เขียนในสัญญาค้ำประกัน ความในสัญญาค้ำประกันระบุว่า “ฯลฯ ในจำนวนเงินหกพันบาทถ้วนซึ่งนายหนู (จำเลยที่ ๑) ผู้กู้ได้ทำสัญญากู้เงินของท่าน (โจทก์) ไป ฯลฯ นั้นเป็นข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เขียนเอง ข้อความนี้แสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป ๖,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ลงชื่อรับรู้ข้อความนั้น จึงต้องถือว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามความในมาตรา ๖๕๓ แล้ว โจทก์ย่อมฟ้องได้ ส่วนจำเลยที่ ๒ จะรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ต้องอาศัยผลการวินิจฉัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๒ ยังมีข้อต่อสู้กับโจทก์อีก จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยที่ ๑,๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ได้ความตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า เอกสารสัญญากู้นั้นจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในสัญญา ส่วนสัญญาค้ำประกันนั้น จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกัน โดยลงลายมือชื่อไว้ในผู้เขียนและพยาน เอกสารสัญญากู้และค้ำประกันอยู่ในกระดาษาแผ่นเดียวกันแต่คนละหน้า ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้นั้น ตามมาตรา ๖๕๓ บัญญัติแต่เพียงว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ ๑ หาได้ไม่เท่านั้น ไม่ได้หมายความเลยไปว่า หนี้แห่งการกู้ยืมหากมีจริงจะเป็นโมฆะไปด้วย และหนี้ที่ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ดังกล่าวก็ยังเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ที่อาจจะมีการค้ำประกันกันได้ตามมาตรา ๖๘๑ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันอันมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินของโจทก์ไปนั้น เป็นข้อความแสดงแต่เพียงว่าจำเลยที่ ๑เป็นแต่ผู้เขียนเท่านั้น ไม่ควรหมายความเลยไปว่าจำเลยที่ ๑ ได้เป็นผู้กู้เงินของโจทก์ไปด้วยศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ มิได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืม เป็นหลักฐานในเอกสารนั้น หากโจทก์มีหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งอันอาจแสดงความเป็นหนี้ลงลายมือชื่อลูกหนี้มาอ้างแล้ว ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามมาตรา ๖๕๓ ได้ คดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้เขียนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ ทำให้ไว้กับโจทก์ และมีข้อความแสดงถึงว่า จำเลยที่ ๑ เองเป็นผู้ได้กู้เงินของโจทก์ไป และจำเลยที่ ๑ ก็ได้ลงลายมือชื่อผู้เขียนไว้ด้วยเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่เชื่อได้ว่า เอกสารที่จำเลยที่ ๑ เขียนนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามความหมายของมาตรา ๖๕๓ ได้แล้ว ซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธินำเอกสารนี้มาฟ้องร้องจำเลยที่ ๑ ได้ สรุปแล้ว มีประเด็นเนื่องจากคำให้การของจำเลยที่ ๑ ว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกระบวนความ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีนี้ใหม่ชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share