คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8676/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยได้ยึดถือต้นฉบับโฉนดที่ดินไว้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทจากจำเลยมิใช่ฟ้องเรียกที่ดินคืน แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก็ถือว่าจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องคืนต้นฉบับโฉนด จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
การวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องคืนโฉนดที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลต้องวินิจฉัยเป็นก่อนว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเป็นของผู้ตายหรือไม่ หากเป็นทรัพย์สินของผู้ตายแล้ว ก็เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ในฐานะ ผู้จัดการมรดกมีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวมาแบ่งปันแก่ทายาทและมีสิทธิเรียกทรัพย์สินของผู้ตายที่ผู้อื่นยึดถือไว้โดยมิชอบกลับคืนมาได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยจึงต้องส่งคืนโฉนดที่ดินให้โจทก์
ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยชำระแทนเกินอัตราค่าทนายความขั้นสูง จึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ หากจำเลยคืนไม่ได้หรืออ้างว่าไม่ได้อยู่ในความยึดถือของจำเลยก็ให้ศาลเพิกถอนต้นฉบับโฉนดที่ดินเดิมและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสุจริตสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านรบกวนการครอบครองที่ดินของจำเลย รวมระยะเวลาการครอบครองจนถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปี จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงมิใช่มรดกของผู้ตายอีก และโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ตายได้มอบโฉนดที่ดิน แก่จำเลยมานานแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยึดถือหรือยึดหน่วงโฉนดที่ดินพิพาทไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่กรรม ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยจำเลยได้ยึดถือต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยโต้แย้งเป็นประเด็นแรกว่า คดีนี้โจทก์เรียกที่ดินคืนจากจำเลยจึงเป็นคดีมีข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ มิใช่คดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทจากจำเลย หาใช่ฟ้องเรียกที่ดินคืนจากจำเลยไม่ แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก็ถือว่าจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องคืนต้นฉบับโฉนดเท่านั้น จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยโต้แย้งเป็นประเด็นต่อมาว่า ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่เสียก่อนนั้น เห็นว่า การที่ศาลจะวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องคืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลย่อมต้องวินิจฉัยเป็นลำดับว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ตายหรือไม่เสียก่อน และเมื่อฟังว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้ตายแล้ว ก็ย่อมเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกมีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวมาแบ่งปันแก่ทายาท และมีสิทธิเรียกทรัพย์ของผู้ตายที่ผู้อื่นยึดถือไว้โดยมิชอบกลับคืนมาได้ ซึ่งศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้เป็นลำดับโดยชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทไว้ได้เพราะจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินผู้ตายจนได้กรรมสิทธิ์ ดังนั้น ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย เหตุนี้จำเลยจึงหามีสิทธิยึดถือต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ได้ไม่ จำเลยต้องส่งคืนให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์สินของผู้ตายในอันที่จะดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททั้งหลายของผู้ตายตามกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในชั้นอุทธรณ์ไว้เพียง 1,500 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าทนายความ ชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยชำระแทน 3,000 บาท จึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์ ในชั้นฎีกาโจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้.

Share