คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8657/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากที่ดินพิพาท ซึ่งเดิมเป็นของโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่ พ. โดยในวันทำสัญญาพ. ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมบางส่วน ส่วนเงินที่เหลือ พ. จะนำมามอบให้แก่โจทก์ร่วมต่อเมื่อสามารถขับไล่จำเลยซึ่งอาศัยในที่ดินของโจทก์ร่วมออกไปเสียก่อนและโจทก์ร่วมจะต้องจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งจะแต่งงานกับ พ. หลังจากที่มีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้หากจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิโจทก์ร่วมจริงตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ร่วมก็ย่อมมีอำนาจบังคับจำเลยออกจากที่ดินพิพาทอยู่ก่อนโอนให้โจทก์ ทั้งตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท หากโจทก์ไม่สามารถขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินได้และโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์และ พ. ย่อมไม่ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ร่วม และอาจใช้สิทธิเรียกร้องเงินที่ชำระแล้วคืนได้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี และมีสิทธิยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2)
ปัญหาว่า โจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีได้หรือไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้ง ศาลฎีกาจึงสั่งให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 3855 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา พร้อมบ้านไม้ใต้ถุนสูง1 หลัง โดยซื้อมาจากนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ จำเลยทั้งสองขออาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวจากนายอนุรักษ์ หลังจากซื้อที่ดินแล้ว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดิน จำเลยทั้งสองผัดผ่อนโดยขอเวลา 30 วัน เพื่อหาที่อยู่ใหม่ เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากโจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าบ้านและที่ดินดังกล่าวจะได้ค่าเช่าอย่างต่ำเดือนละ 2,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดิน กับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบบ้านและที่ดินคืนให้โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินและบ้านตามฟ้อง กับให้โจทก์เปลี่ยนชื่อทางทะเบียนในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3855 เป็นชื่อของจำเลยทั้งสองภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงการเจตนา

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างพิจารณา นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท ห้ามมิให้เข้าเกี่ยวข้องอีก และให้ร่วมกันชำระเงินเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกจากที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์กับโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ 4,000 บาท และกำหนดให้โจทก์ร่วม 1,500 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,500 บาท ส่วนโจทก์ร่วมไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นรับฎีกาสำหรับฟ้องโจทก์ ไม่รับฎีกาสำหรับฟ้องแย้ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีได้หรือไม่ ปรากฏตามคำร้องของโจทก์ร่วมฉบับลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 ว่า เดิมโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ร่วมได้ขายที่ดินพิพาทซึ่งมีจำเลยทั้งสองขออาศัยอยู่ให้แก่นายพยันต์ เมฆดาราศักดิ์ ในราคา 1,000,000 บาท ในวันทำสัญญาผู้ซื้อได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วม 400,000 บาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 600,000 บาท ผู้ซื้อจะนำมามอบให้แก่โจทก์ร่วมต่อเมื่อสามารถขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งอาศัยในที่ดินของโจทก์ร่วมออกไปเสียก่อน และตกลงว่าโจทก์ร่วมจะต้องจดทะเบียนโอนการขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งจะแต่งงานกับนายพยันต์หลังจากที่มีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ เห็นได้ว่ากรณีตามคำร้อง โจทก์ร่วมระบุว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิโจทก์ร่วมตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีนี้ ซึ่งหากฟังได้ว่าเป็นเช่นนั้น โจทก์ร่วมย่อมมีอำนาจบังคับจำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทอยู่ก่อนโอนให้โจทก์ทั้งตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท หากโจทก์ไม่สามารถขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินได้และโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีโจทก์และนายพยันต์ย่อมไม่ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ร่วมและอาจใช้สิทธิเรียกร้องเงินที่ชำระแล้วคืนได้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี มีสิทธิยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ปัญหาที่ว่า โจทก์ร่วมมีอำนาจฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีได้หรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ว่าจำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อมามีว่า นายสาร ศรีฟ้ายกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายทัง เมื่อนายทังขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองก็ขออาศัยโจทก์ร่วมอีก ดังนั้น เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ยินยอมให้จำเลยทั้งสองอาศัยอยู่ต่อไป จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ต่อไป

อนึ่ง ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งศาลฎีกาจึงสั่งให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 2,000 บาท ส่วนโจทก์ร่วมไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ

Share