คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8651/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ บ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดหาทนายความแก่จำเลยที่ 1 และวันที่ไปโอนทรัพย์มรดกของ บ. ที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนด้วยตนเองจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันโดยสมคบกันมาก่อน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์มรดกของ บ. มิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 9,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 8 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสาม นำสืบว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายบุญธรรมกับจำเลยที่ 1 ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 นายบุญธรรมถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญธรรม ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญธรรม ในการร้องขอตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยทั้งสองปกปิดไม่แจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องเพื่อโจทก์ทั้งสามจะได้ไม่ไปคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกและอ้างว่าได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่เคยให้ความยินยอม ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 29396 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวโดยแจ้งว่าเป็นการรับโอนมรดก ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถแบ่งปันได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกในส่วนของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโอนทรัพย์มรดกเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 โจทก์ทั้งสามทวงถามส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกมาโดยตลอดแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งให้
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญธรรมกับจำเลยที่ 1 นายบุญธรรมกับจำเลยที่ 1 ย้ายมาอยู่ที่พัทยากับจำเลยที่ 2 โดยเมื่อปี 2531 นายบุญธรรมและจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29396 จากนางกัญญา ในราคา 60,000 บาท เพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย โดยเงินที่ซื้อที่ดินเป็นของนายบุญธรรมกับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง แต่ใส่ชื่อนายบุญธรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดิน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 นายบุญธรรมถึงแก่ความตาย ต่อมาเป็นเวลาประมาณ 20 ปี จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญธรรม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ได้โอนทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายบุญธรรม โดยจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และนายบุญธรรม นายบุญธรรมถึงแก่ความตายเมื่อปี 2535 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญธรรม วันที่ 14 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29396 อันเป็นทรัพย์มรดกของนายบุญธรรมให้แก่จำเลยที่ 2
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29396 อันเป็นทรัพย์มรดกของนายบุญธรรมให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของนายบุญธรรม จำเลยที่ 2 เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดหาทนายความแก่จำเลยที่ 1 และวันที่ไปโอนทรัพย์มรดกของนายบุญธรรมที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนด้วยตนเองจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันโดยสมคบกันมาก่อน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์มรดกของนายบุญธรรมมิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share