คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ไม่ใช่เป็นบทความผิด แต่เป็นเพียงบทที่ให้อำนาจแก่ศาลในการริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ด้วย เป็นการไม่ชอบ
คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานยึดสิ่งใดเป็นของกลางอันพึงจะต้องริบตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวดังนั้น จึงไม่มีของกลางที่ศาลจะสั่งให้ริบเสีย แม้โจทก์จะมีคำขอตามมาตรา 74 ทวิ มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องสั่งตามมาตรานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี, 74 ทวิ, 74 ตรี และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากที่ดินราชพัสดุดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง, 74 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคสอง, 74 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี และปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกจากที่ดินราชพัสดุซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาและยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบฎีกาว่า จำเลยซื้อที่ดินที่เกิดเหตุมาจากนายโสพิศและนางมัณฑนาซึ่งได้รับมรดกมาจากบิดามารดา โดยบิดามารดาได้ที่ดินมาจากนายเม็ดเจ้าของที่ดินเดิม ที่ดินที่เกิดเหตุมีสภาพเป็นที่โล่ง มีชาวบ้านทำประโยชน์มาแล้วหลายช่วงอายุคน ขณะที่ซื้อเป็นไร่มันสำปะหลัง จำเลยจึงมิได้เป็นผู้บุกรุกหรือแผ้วถางหรือตัดไม้ทำลายป่าแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายสำรวจ องค์การบริหารส่วนตำบลสวนผึ้งท้องที่ที่เกิดเหตุใช้อุปกรณ์เครื่องมือวัดแผนที่รังวัดที่ดินที่เกิดเหตุแล้ว ได้เนื้อที่เพียง 20 ไร่ 3 งาน 19.25 ตารางวา เหตุที่เจ้าหน้าที่ทหารรังวัดได้ 33 ไร่เศษ เนื่องจากรังวัดขึ้นไปบนภูเขาด้วยเพื่อให้ได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลย จำเลยไม่เคยทราบมาก่อนว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นการฎีกาในทำนองว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันเป็นการขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นมาใหม่ ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ด้วยหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าวไม่ใช่เป็นบทความผิด แต่เป็นเพียงบทที่ให้อำนาจแก่ศาลในการริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานยึดสิ่งใดเป็นของกลางอันจะพึงต้องริบตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีของกลางที่ศาลจะสั่งให้ริบเสีย แม้โจทก์จะมีคำขอตามมาตรา 74 ทวิ มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องสั่งตามมาตรานี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 74 ทวิ ด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาโดยมิได้แก้ให้ถูกต้องนั้น จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share