คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาททั้งหมด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ป. เพียงผู้เดียว ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรม การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกัน แม้ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องเคยส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์แล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิเชียร ผู้ตาย ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558
วันที่ 20 กรกฎาคม 2558 นางพูลศรี ผู้ร้องคัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้ร้องคัดค้านกับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน โดยคำร้องมีใจความโดยสรุปว่า ผู้ร้องคัดค้านเป็นบุตรของนางทองคำหรือทองพูล น้าของผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายก่อนผู้ตายจึงมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายแทนที่มารดา เนื่องจากนายประเสริฐ พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตายซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เนื่องจากปลอมพินัยกรรมของผู้ตาย ทำให้มารดาผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับหลังมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นผู้รับพินัยกรรมของนายประเสริฐ แต่เมื่อพินัยกรรมที่ผู้ตายยกทรัพย์มรดกให้นายประเสริฐเป็นพินัยกรรมปลอม ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายแทนนายประเสริฐและถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายไปในทางมิชอบ ขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้ร้องคัดค้านกับผู้ร้องซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแทน
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องคัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องคัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องคัดค้านมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายวิเชียร ผู้ตายกับนายประเสริฐเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้ร้องเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมา ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน ศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยความว่า สำเนาบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสาร มีผลสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้น อันเป็นการตัดทายาทโดยธรรมของผู้ตายมิให้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 (1) ผู้ร้องจึงเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1603 บัญญัติว่า กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ทายาทมีสิทธิตามกฎหมายเรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมเรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม” และบัญญัติในวรรคสองแห่งมาตรา 1629 ว่า คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม การที่ศาลตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของผู้ตายในฐานะที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาทโดยธรรมทั้งหมดแล้ว เช่นนี้ การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้นายประเสริฐเพียงผู้เดียว ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นทายาทของนายประเสริฐ ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องในฐานะผู้เป็นผู้จัดการมรดกแทนทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายกับผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะผู้รับพินัยกรรมจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรมเช่นนี้ การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกันระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสอง ถือได้ว่าผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ข้อที่ผู้ร้องคัดค้านอ้างว่าการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องกับผู้ร้องคัดค้านแต่ละคน ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วมาก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาชั้นร้องขอเพิกถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้านนั้น ฟังไม่ขึ้น และเมื่อการดำเนินการของผู้ร้องในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในฐานะผู้แทนทายาทโดยธรรมทั้งหมดของผู้ตายซึ่งผูกพันผู้ร้องคัดค้านที่เป็นทายาทสืบสันดานคนหนึ่งดังได้วินิจฉัยมา การที่ผู้ร้องได้มีการส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์ในภายหลังแล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานต่อศาลฎีกาขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาตไปแล้วนั้น ย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวให้ศาลไต่สวนใหม่ ส่วนฎีกาประการอื่นของผู้ร้องคัดค้านเช่นว่า ผู้ร้องได้มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา ผู้คัดค้านที่ 1 มีการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายมิชอบหลายรายการนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งการวินิจฉัยมานั้นเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทั้งหมดของผู้ร้องคัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share