แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทายาทที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก หมายถึงทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย จึงเป็นทายาทลำดับที่ 3 แต่ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก บิดาของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับ 2 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายและไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก
แม้ผู้คัดค้านจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แต่ในระหว่างอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันผู้คัดค้านจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดก และมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางทองปาน โทแก้ว ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และให้ตั้งนางสว่าง กัณหาเล่ห์ ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่า นายเหลี่ยมและนางน้อยเป็นสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือนายคงเดชนายสายทอง นางทองปาน ผู้ร้อง นางบุญสาร และนายทนงศักดิ์ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลนายเหลี่ยมยังมีชีวิตอยู่ ส่วนนางน้อยถึงแก่กรรมแล้ว นายคงเดชกับผู้คัคด้านอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส นายคงเดชถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2521 ก่อนถึงแก่กรรมนายคงเดชมีที่ดิน 3 แปลง อยู่ที่ตำบลเมืองใหม่ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดอุดรธานี คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 36 เนื้อที่ 6 ไร่ 35 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ร.3 หรือ ร.ค.6 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2760 เนื้อที่ 1 ไร่ 70 ตารางวาตามเอกสารหมาย ร.4 หรือ ร.ค.7 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่2706 เนื่อที่ 30 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ตามเอกสารหมาย ร.5 หรือ ร.ค.5 กับมีเรือน 1 หลัง ยุ้งข้าว 1 หลัง โคและกระบือด้วย เฉพาะที่ดินตามเอกสารหมาย ร.3 กับเรือนและยุ้งข้าวดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านกับนายคงเดชร่วมกันทำมาหาได้ในระหว่างอยู่กินด้วยกัน ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 นายเหลี่ยมได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของนายคงเดชผู้ตายหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคแรกบัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ฯ” ศาลฎีกาเห็นว่าทายาทที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหมายถึงทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 129 ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายจึงเป็นทายาทลำดับ 3 แต่ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก นายเหลี่ยมซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายและเป็นทายาทลำดับ 2 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย และไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ส่วนผู้คัดค้านแม้จะมิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แต่ในระหว่างอยู่กินด้วยกันก็มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้คัดค้านจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดก และมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกเมื่อผู้คัดค้านมีคุณสมบัติตามกฎหมาย จึงสมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าผู้คัดค้านกับผู้ตายมีบุตรด้วยกันหรือไม่”
พิพากษายืน