คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2353/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้ ย. เพื่อชำระหนี้ เช็คดังกล่าวเป็นเช็คให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ย. ย่อมโอนให้แก่ผู้เสียหายด้วยการส่งมอบให้กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ เมื่อผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ผู้เสียหายเป็นผู้ทรงเช็คและเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยจึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) แม้ต่อมาภายหลังผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าวจาก ย. ก็ไม่ทำให้ฐานะการเป็นผู้เสียหายของผู้เสียหายในคดีอาญาหมดไป ทั้งการชำระหนี้ของ ย. แก่ผู้เสียหายก็เป็นการชำระหนี้ตามกฎหมายที่ ย. จะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย มิใช่เป็นการชำระหนี้แทนจำเลย จึงไม่ทำให้คดีระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 แต่อย่างใด โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2534 เวลากลางวันจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบ่อพลอยลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 จำนวนเงิน 95,000 บาท มอบให้นายยุทธนาเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายสัปปะรด อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย วันที่ 5 พฤษภาคม 2534 เวลากลางวัน นายยุทธนาได้นำเช็คดังกล่าวไปมอบให้นางอัญชลีผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 เวลากลางวัน ผู้เสียหายนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ทั้งนี้จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น เหตุเกิดที่ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(1), (2) จำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 2 เดือน 20 วันนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 (1)(2) จำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 2 เดือน 20 วัน โดยยังคงลงโทษตามบทมาตราที่ศาลชั้นต้นวางไว้ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นการโต้เถียงเกี่ยวกับดุลพินิจของศาลว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยคงฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.1มอบให้นายยุทธนาเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายสับปะรดซึ่งจำเลยซื้อจากนายยุทธนา ต่อมานายยุทธนามอบเช็คตามเอกสารหมาย จ.1 ให้นางอัญชลีผู้เสียหาย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกับที่ลงในเช็คโดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ปรากฏตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนายยุทธนามอบเช็คตามเอกสารหมาย จ.1ให้ผู้เสียหายเพื่อแลกเงินสดโดยไม่มีการสลักหลังหรือไม่มีสัญญากู้ยืมใด ๆ หนี้ระหว่างนายยุทธนากับผู้เสียหายไม่เป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และใช้บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า”ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ฯลฯเมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ” การที่จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.1 มอบให้นายยุทธนาเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายสับปะรดซึ่งจำเลยซื้อจากนายยุทธนาเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งเช็คดังกล่าวเป็นเช็คให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ นายยุทธนาย่อมโอนให้แก่ผู้เสียหายด้วยการส่งมอบให้กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 โดยไม่จำต้องสลักหลังหรือมีสัญญากู้ยืมใด ๆ มาแสดงผู้เสียหายจึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบเมื่อผู้เสียหายนำเช็คนั้นไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยย่อมมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนการที่นายยุทธนามอบเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่ผู้เสียหายจะเป็นการมอบให้เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหนี้ระหว่างผู้ทรงเช็คคนแรกกับผู้ทรงเช็คคนต่อมา หาทำให้มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คเปลี่ยนแปลงไปไม่ จำเลยจึงไม่พ้นความผิด ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่านายยุทธนาได้ชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายจึงไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายอีกต่อไปทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เอกสารหมาย จ.1 ผู้เสียหายเป็นผู้ทรงเช็คและเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย จึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) แม้ต่อมาภายหลังผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าวจากนายยุทธนาก็ไม่ทำให้ฐานะการเป็นผู้เสียหายของผู้เสียหายในคดีอาญาหมดไปทั้งการชำระหนี้ของนายยุทธนาแก่ผู้เสียหายก็เป็นการชำระหนี้ตามกฎหมายที่นายยุทธนาจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในฐานะที่นายยุทธนาเป็นผู้โอนเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย มิใช่เป็นการชำระหนี้แทนจำเลย จึงไม่ทำให้คดีระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 แต่อย่างใด โจทก์จึงยังมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share